นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.เคที ซีมิโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ยังอยู่ในโทนอ่อนแอ แต่คงจะลงไม่แรงเท่ากับเมื่อวานนี้ เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังมีความไม่แน่นอน ด้านประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็พูดชัดว่าจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย คงปล่อยให้เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ คนก็ยังวิตกสถานการณ์ในฮ่องกงที่กลัวว่าจะรุนแรงขึ้น ส่วนผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนก็มีทั้งออกมาดี และไม่ดี ราคาหุ้นก็คงจะแกว่งกันไปตามงบฯที่ออกมา ทั้งนี้ ยังต้องติดตามประเด็นการถอดถอนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯด้วย
ส่วนบ้านเราดัชนีฯจะต้องตีกลับขึ้นมาให้เหนือ 1,620-1,622 จุดให้ได้ หลังจากที่หลุดไปแล้วสัญญาณทางเทคนิคไม่ค่อยดี ซึ่งก็คงจะต้องอยู่ที่การเทรดของกองทุนในประเทศ เพราะช่วงที่ผ่านมากองทุนขายต่อเนื่อง ส่วน Fund Flow ยังไหลเข้าในเอเชีย จากความเสี่ยงที่มองกันว่าลดลงก็เลยเข้ามาซื้อหุ้น เพียงแต่ยังไม่ได้ซื้อหุ้นไทย รวมทั้งให้ติดตาม SET in the City ที่เริ่มงานวันนี้อาจช่วยหนุนตลาดฯได้บ้าง
ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้แกว่งทั้งในแดนบวก-ลบ พร้อมให้แนวรับ 1,605 จุด ส่วนแนวต้าน 1,622-1,630 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (13 พ.ย.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 27,783.59 จุด เพิ่มขึ้น 92.10 จุด (+0.33%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,094.04 จุด เพิ่มขึ้น 2.20 จุด (+0.07%) ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,482.10 จุด ลดลง 3.99 จุด (-0.05%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 5.63 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน เพิ่มขึ้น 2.50 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 20.91 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 5.09 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 127.23 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 2.85 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 1.82 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ลดลง 21.40 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (13 พ.ย.62) 1,615.14 จุด ลดลง 11.06 จุด (-0.68%)
- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 552.92 ล้านบาท เมื่อวันที่ 13 พ.ย.62
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ธ.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (13 พ.ย.62) ปิดที่ 57.12 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 32 เซนต์ หรือ 0.6%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (13 พ.ย.) อยู่ที่ 0.87 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 30.23 ตลาดยังรอความชัดเจนการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน มองกรอบวันนี้ 30.20-30.30
- ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด 4 เจ้าหน้าที่รัฐ-ซิโน-ไทย คดีติดสินบนข้ามชาติ โรงไฟฟ้าขนอม แลกเดินเรือขนวัสดุเทียบท่า ชี้ทำสัญญาเท็จกับบริษัทญี่ปุ่น ขนเงินจากสำนักงานใหญ่ 20 ล้านบาท ให้สินบน "ซิโน-ไทย" ลั่นไม่ผิด ทำธุรกิจมีธรรมาภิบาล
- "อุตตม" ยันรัฐบาล เตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง หวังรับมือเศรษฐกิจโลกชะลอ ย้ำหากไม่ทำอะไรเลยจะแย่ลงกว่านี้ ขณะ "กรุงไทย" เตรียมสุ่มแจกทองคำ "ชิม ช้อป ใช้" กระเป๋า 2 ให้ 1 สิทธิ์ชิงโชคต่อการใช้ 1 พันบาท หวังปลุกยอดใช้จ่าย ส่วน "เฟส 3" เปิดลงทะเบียน 14-15 พ.ย.นี้
- "ขุนคลัง" แย้มเตรียมพร้อมแผนรับสถานการณ์เศรษฐกิจปี 63 หลังเศรษฐกิจโลกชะลอตัว-ส่งออกหดตัว ทำให้โรงงานปิดกิจการ คนตกงาน ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม เผยข้อมูลการเปิดโรงงานใหม่ตั้งแต่ 1 ม.ค.-12 พ.ย. มีสูงกว่าปิดโรงงานถึง 107% ขณะที่การจ้างงานใหม่มีกว่า 8.4 หมื่นคน เทียบกับตัวเลขการเลิกจ้างที่ 3.5 หมื่นคน
- นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) เปิดเผยว่า รับหนังสือร้องเรียนจากผู้ประกอบการสายการบินต่ำ (โลว์คอสต์) ประกอบด้วยสายการบินไทยแอร์เอเชีย เวียดเจ็ตแอร์ บางกอกแอร์เวย์ส ไทยไลอ้อนแอร์ และนกแอร์ ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่ 4.726 บาทต่อลิตร ทำให้ผู้ประกอบการมีผลประกอบการในปีนี้ขาดทุนทุกราย
*หุ้นเด่นวันนี้
- BC (บมจ.บูทิค คอร์ปอเรชั่น) เทรดวันนี้วันแรกในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ราคาขาย IPO อยู่ที่ 2.86 บาท/หุ้น โดย BC ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายในรูปแบบสร้าง-ดำเนินงาน-ขาย (Build-Operate-Sell : BOS) ประเภทโรงแรม เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ อสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า เช่น ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงานให้เช่า บนทำเลที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ เช่น ย่านสุขุมวิท และเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น พัทยา ภูเก็ต และเชียงใหม่
บริษัทฯ และบริษัทย่อย ประกาศผลดำเนินงานงวดไตรมาส 3/62 ขาดทุนสุทธิ 69.18 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 47,113 บาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 35.52 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.10 บาท
- EPG (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 10 บาท กำไรไตรมาส 2 ของปี 62/63 ดีกว่าคาดมาก ถ้าไม่รวม FX loss กำไรปกติเป็น 346 ล้านบาท +45% Q-Q, +22% Y-Y เป็นกำไรที่ดีที่สุดในรอบ 12 ไตรมาส สาเหตุหลักมาจากอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นมากในทุกธุรกิจ นอกจากต้นทุนวัตถุดิบจะลดลงตลอดทั้งปี (มีแนวโน้มลดต่อเนื่องในปีหน้า) การปรับกลยุทธ์โดยเลือกขายสินค้ามาร์จิ้นสูง รุกตลาดที่ยอมรับสินค้า Premium และ economy of scale จากการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตรากำไรเพิ่มดังกล่าว โดยปรับกำไรปีนี้และปีหน้าขึ้น 10% เป็นเติบโต 27% ปีนี้และ 15% ปีหน้า
- JMT (กรุงศรี) "ซื้อ"เป้า IAA Consensus 24 บาท แจ้งกำไรสุทธิ Q3/62 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 190 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 28%qoq และ 37%yoy แนวโน้ม Q4/62 ยังมีโอกาสทำ All time high ได้อีกจากรายได้ของการเรียกเก็บหนี้ที่เพิ่มขึ้นตามพอร์ตหรือฐานลูกหนี้ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีพอร์ตหนี้ในการบริหารทั้งหมด 1.4 แสนล้านบาท สามารถสร้างกระแสเงินสดต่อเนื่องไปได้อีกอย่างน้อย 12 ปี