รายงานจาก UOBH เผยบริษัทฟินเทคในสิงคโปร์ฮ็อต ดึงเงินทุนจากทั่วโลกได้มากที่สุดในอาเซียน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 14, 2019 15:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ในสิงคโปร์ยังคงดึงดูดเงินทุนจากทั่วโลกมากที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 51) รายงาน "FinTech in ASEAN: From Start-up to Scale-up" ที่เผยแพร่โดยธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ หรือธนาคารยูโอบี (UOB), ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PwC) และสมาคมฟินเทคสิงคโปร์ (SFA) ระบุ

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็นฐานที่มั่นอันดับหนึ่งในภูมิภาคสำหรับบรรดาบริษัทฟินเทค โดยเป็นที่ตั้งของบริษัทฟินเทคร้อยละ 45 จากทั้งหมดในอาเซียน

จากการที่รัฐบาลสิงคโปร์ส่งเสริมนวัตกรรมฟินเทคในภาคส่วนต่าง ๆ เงินทุนสำหรับบริษัทฟินเทคในสิงคโปร์จึงมีการกระจายอย่างทั่วถึง โดยมีนวัตกรรมการประกันภัย การชำระเงิน และการเงินส่วนบุคคลเป็นภาคส่วนที่ได้รับเงินทุนมากที่สุด รายงานระบุว่า เงินทุนที่กระจายอย่างทั่วถึงนี้ยังสะท้อนถึงภูมิทัศน์ด้านฟินเทคในสิงคโปร์ที่เติบโตได้อย่างรวดเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ที่อุตสาหกรรมฟินเทคยังเป็นเรื่องใหม่และเน้นไปที่นวัตกรรมการชำระเงินเป็นส่วนใหญ่

เจเน็ต ยัง หัวหน้าฝ่าย Group Channels and Digitalisation ของธนาคารยูโอบี กล่าวว่า "สิงคโปร์มีกฎเกณฑ์และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวย ทั้งยังได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุน และมีอุตสาหรรมฟินเทคที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เป็นฐานที่มั่นที่น่าดึงดูดใจสำหรับบริษัทที่ต้องการคว้าโอกาสจากศักยภาพการเติบโตในอาเซียน และด้วยเหตุนี้ บริษัทจำนวนมากในสิงคโปร์จึงพัฒนาจากการระดมทุนขั้นต้นไปสู่ขั้นปลาย"

"อย่างไรก็ดี การขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคที่มีความหลากหลายที่สุดแห่งหนึ่งในโลกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพื่อเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จ บริษัทฟินเทคต้องแสวงหาพันธมิตรที่สามารถมอบประสบการณ์ ข้อมูลเชิงลึก และสร้างคอนเนคชัน เพื่อรับมือกับกฎเกณฑ์และภูมิทัศน์การดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศในอาเซียน"

ลูกค้าหลักของบริษัทฟินเทคคือธุรกิจต่าง ๆ (ร้อยละ 79) และในจำนวนนี้ สถาบันการเงินคิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) ของลูกค้าหลักทั้งหมด ตามมาด้วยองค์กร (ร้อยละ 17) และ SME (ร้อยละ 12) ส่วนที่เหลือคือผู้บริโภคและบริษัทสตาร์ทอัพ (ร้อยละ 21)

รายงานยังระบุด้วยว่า เนื่องจากสถาบันการเงินและองค์กรเกือบทั้งหมดมักมีขั้นตอนการอนุมัติหลายขั้นตอน บริษัทฟินเทคจึงต้องเตรียมตัวเตรียมใจว่าการทำข้อตกลงและการได้ลูกค้ากลุ่มนี้อาจต้องใช้เวลานานกว่าปกติ ดังนั้น บริษัทฟินเทคที่นำเสนอโซลูชันแบบ B2B ต้องมั่นใจว่ามีสายป่านยาวพอที่จะแบกรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ