นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจปี 63 บริษัทตั้งงบลงทุน 2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากเป้าหมายลงทุน 1 หมื่นล้านบาทในปีนี้ โดยเงินลงทุนราว 5-6% จะใช้ลงทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และอีกราว 5-6 พันล้านบาทจะใช้ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในมือ
ขณะที่เงินลงทุนส่วนที่เหลือซึ่งเป็นส่วนใหญ่จะใช้ลงทุนในการเข้าซื้อและร่วมลงทุน (M&A) โครงการโรงไฟฟ้าที่คาดว่าจะหาได้ราวครึ่งหนึ่ง ของเป้าหมายการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เข้ามาปีละ 700-800 เมกะวัตต์ (MW) โดยเฉพาะโครงการที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแล้ว (COD) เพื่อชดเชยโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ (TECO) ขนาด 700 เมกะวัตต์ ที่จะหมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในเดือน ก.ค. 63
อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าบริษัทจะรับรู้รายได้จากโครงการใหม่ 4 โครงการ กำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนรวม 395.54 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้า SPP ราชโคเจนเนอเรชั่น กำลังการผลิต 119.11 เมกะวัตต์ ที่จะรับรู้เต็มปีหลังจากซื้อกิจการเมื่อเดือนต.ค.62 ,รับรู้เต็มปีโรงไฟฟ้าเซเปียน เซน้ำน้อยในลาว กำลังการผลิต 102.5 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่ม COD ต้นเดือน ธ.ค.62 ,โครงการนวนครส่วนขยาย อีก 23.99 เมกะวัตต์ คาดจะเริ่ม COD ในช่วงครึ่งหลังปี 63 และโรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน ในออสเตรเลีย กำลังการผลิต 149.94 เมกะวัตต์ แล้วเสร็จในเดือนก.ย.63
ขณะที่ในปีหน้า บริษัทมีแผนหยุดซ่อมบำรุงใหญ่โรงไฟฟ้าหงสา ในลาว 1 ยูนิต หลังจากเดินเครื่องมาครบ 6 ปี โดยจะหยุดในช่วงกลางปี เป็นเวลากว่า 50 วัน ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหงสาในปีหน้าอาจจะไม่ดีเท่ากับปีนี้
"เราต้องการ M&A เข้ามาเพื่อที่จะรับรู้รายได้เลย เราคงไม่ได้ทำแค่ Greenfield แล้ว เราพยายามทำ Brownfield ที่ COD แล้วและกำหนดว่าอย่างน้อยควรหาได้ครึ่งหนึ่งของเป้าที่จะทำในแต่ละปีก็โอเคแล้ว ครึ่งหนึ่งก็ถือว่ายากแล้ว และเราจะรับรู้รายได้จากโครงการใหม่เข้ามาเพิ่มก็จะชดเชย TECO ได้"นายกิจจา กล่าว
นายกิจจา กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่นในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานีนั้น มีกำลังการผลิต 119.15 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 90 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือขายไฟฟ้าให้กับลูกค้า ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าในนิคมฯนวนคร ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 400-500 เมกะวัตต์ คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จในปลายปี 62 ถึงต้นปี 63
ส่วนความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ใน จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าแห่งใหม่นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/63 หลังจากนั้นเจรจาเรื่องเงินกู้ให้เสร็จภายในสิ้นปี 63 หรือต้นปี 64 ขณะที่งานรับเหมาก่อสร้าง (EPC) คาดว่าจะเจรจาให้แล้วเสร็จในสิ้นปี 63 เพราะตามแผนจะก่อสร้างในปี 64 โดยหน่วยแรกจะแล้วเสร็จพร้อม COD ในเดือน มี.ค.67 และหน่วยที่สองจะเสร็จในต้นปี 68 ขณะที่ในด้านพันธมิตรร่วมทุน ยังอยู่ระหว่างการเจรจาก็จะพยายามให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้
ด้านการจัดหาก๊าซธรรมชาติ เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าหินกอง คาดว่าจะทำสัญญาซื้อขายก๊าซฯได้ภายในสิ้นปีนี้ถึงต้นปีหน้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาหลายรายทั้ง บมจ.ปตท. (PTT) และรายอื่น ๆ รวมถึงการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาเองด้วย หลังขณะนี้ได้ยื่นเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แล้ว จากที่ปัจจุบันมีผู้ได้ใบอนุญาตเพียง 2 รายคือ ปตท.และกฟผ. โดยการเจรจาซื้อขายก๊าซฯที่ยังมีความล่าช้า เพื่อให้ข้อสรุปที่ดีที่สุด เพราะต้นทุนเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงถึง 60-70%
ทั้งนี้ บริษัทยังวางเป้าหมายในปี 66 จะมีพอร์ตสัดส่วนการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานประมาณ 80% จากราว 95% ในปัจจุบัน และพอร์ตระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ประมาณ 20% จากไม่ถึง 5% ในปัจจุบัน ขณะที่สัดส่วนรายได้จะมาจากในประเทศและต่างประเทศ ประมาณ 50:50 จากปัจจุบันอยู่ที่ 70:30 โดยวางเป้ามีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนประมาณ 10,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มี 9,341 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้จะเป็นพอร์ตของพลังงานทดแทนราว 2,000 เมกะวัตต์ หรือราว 20% ซึ่งล่าสุดอาจจะทำได้เร็วกว่ากำหนดเพราะปัจจุบันมีพอร์ตพลังงานทดแทนแล้วราว 13%
ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือ 9,341 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว 7,057 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างพัฒนาและก่อสร้าง 2,284 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยแล้วเสร็จและจ่ายไฟฟ้าในช่วงปี 63-68 ขณะเดียวกันก็จะมีโรงไฟฟ้าที่หมดอายุช่วงปี 63-70 จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ ขนาด 700 เมกะวัตต์หมดอายุในเดือนก.ค.63 , โรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรี ขนาด 1,470 เมกะวัตต์ หมดอายุในปี 68 และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรี ขนาด 2,175 เมกะวัตต์ หมดอายุในปี 70
ขณะเดียวกัน บริษัทยังมองหาโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพิ่มเติมทั้งในและต่างประเทศ โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในเวียดนามนั้น บริษัทก็ได้ลงนามเอ็มโอยูกับทางเวียดนามเพื่อดำเนินการโครงการระดับพันเมกะวัตต์มาเป็นเวลานับปี แต่การดำเนินการยังคงล่าช้า เพราะต้องมีการเจรจาให้รอบคอบด้วย
นายกิจจา กล่าวอีกว่า สำหรับพอร์ตระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เป็นการร่วมลงทุนกับพันธมิตร ซึ่งปัจจุบันมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู รถไฟฟ้าสายสีเหลือง โครงข่ายใยแก้วนำแสงใต้ดิน โครงการน้ำประปาแสนดินในลาว ขณะที่โครงการระบบติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรีนั้น คาดว่าจะลงนามสัญญากับภาครัฐได้ประมาณเดือนก.พ.63
ทั้งนี้ บริษัทยังให้น้ำหนักการลงทุนเพิ่มในธุรกิจระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยมีกลุ่มพันธมิตรหลักบีเอสอาร์ (BSR) ซึ่งจะเข้าร่วมประมูลในโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนด้านคมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม และการบริการสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสในการเข้าร่วมลงทุนอีกหลายโครงการ รวมถึงยังมองโอกาสการลงทุนเกี่ยวกับสมาร์ทซิตี้ ในนิคมฯนวนคร ซึ่งปัจจุบันจ้างกฟผ.เป็นผู้ศึกษาคาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปี 63 ซึ่งการให้ความสนใจลงทุนระบบสาธารณูปโภคเนื่องจากเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นโครงการสัมปทานกับภาครัฐ มีผลตอบแทนชัดเจนและมีความเสี่ยงไม่มากนัก ซึ่งจะมาช่วยเสริมศักยภาพการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท
นอกจากนี้ โครงสร้างธุรกิจของบริษัท นอกเหนือจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานแล้ว ยังให้ความสนใจธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น งานบริการเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้า การลงทุนเชื้อเพลิงประเภทเชื้อเพลิงชีวมวลอัด (Wood Pellet) ซึ่งต้องใช้พื้นที่ในการปลูกไม้เพื่อทำเป็นเชื้อเพลิงจำนวนมาก โดยอยู่ระหว่างเจรจาทั้งในลาวและเมียนมา ซึ่งหากสามารถหาพื้นที่ปลูกไม้ได้ก็น่าจะสามารถทำสัญญาซื้อขายเชื้อเพลิงให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งในญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ที่มีความต้องการเชื้อเพลิงดังกล่าวจำนวนมาก
สำหรับผลการดำเนินงาน 9 เดือนของปี 62 บริษัทมีรายได้รวมจำนวน 3.36 หมื่นล้านบาท โดยรายได้หลักมาจาก 2 ส่วนที่สำคัญ คือรายได้ค่าขายไฟจากโรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ และบริษัท ราช-ออสเตรเลีย คอร์ปอเรชั่น รวมจำนวน 2.74 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 81.5% ของรายได้รวม และรายได้จากส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุนจำนวน 3.52 พันล้านบาท คิดเป็น 10.5% ของรายได้รวม ทั้งนี้ บริษัทมีกำไรสำหรับงวด จำนวน 5.06 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% เทียบกับงวดเดียวกันของปีที่แล้ว
ด้านนางวดีรัตน์ เจริญคุปต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงิน ของ RATCH กล่าวว่า บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้ในช่วงต้นปีหน้า เพื่อรองรับการลงทุนในโครงการใหม่ ๆ รวมถึงการรีไฟแนนซ์ ในช่วงที่ทิศทางดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ปัจจุบันกลุ่มมีภาระหนี้ราว 3 หมื่นล้านบาท มีต้นทุนดอกเบี้ยอยู่กว่า 4%