นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด วันที่ 14 พ.ย.ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติสั่งจ้างก่อสร้าง งานโยธา โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลจีนในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ- หนองคาย (ระยะที่1 กรุงเทพฯ- นครราชสีมา) ระยะทาง 253 กม.ในงานสัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.6 กม. โดยจะลงนามหลังจาก EIA ส่วนเพิ่มเติมผ่านแล้ว
สำหรับสัญญา 4-6 ช่วง พระแก้ว-สระบุรี เป็นงานก่อสร้างคันทางระดับดิน ระยะทาง 7.02 กม. โครงสร้างทางรถไฟยกระดับ 24.58 กม. งานอาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับงานระบบรถไฟฟ้า 7 แห่ง ราคากลาง 11,170,855 ล้านบาท บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) เสนอด้านราคาต่ำสุด 9,429 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราคากลาง 16.1%
นายจิรุตม์ กล่าว่า คณะกรรมการ รฟท.ยังไม่อนุมัติ โครงการจัดหารถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า (บทต.) จำนวน 965 คัน เนื่องจากข้อมูลยังไม่ชัดเจน โดยได้เร่งให้ รฟท.ทำเวิร์คช็อปเพื่อวางยุทธศาสตร์ใหม่ รองรับการดำเนินงานในอนาคตที่การก่อสร้างรถไฟทางคู่จะเสร็จ แผนการเดินรถสินค้าและโดยสารจะเป็นอย่างไร
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่า รฟท. กล่าวว่า คณะกรรมการ รฟท.ยังไม่อนุมัติจัดหาโบกี้บรรทุกตู้สินค้า โดยให้ทำข้อมูลเพิ่มเติมในหลายประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน เช่น เปรียบเทียบตัวเลขระหว่างซื้อ กับเช่า ให้ชัดเจนเข้าใจง่าย ข้อสมมุติฐานต้องชัดเจนกว่านี้ เพราะต้องเสนอ
ทั้งนี้ ในทีโออาร์ จะกำหนดให้มีการการผลิตในประเทศ โดยมีชิ้นส่วนภายในประเทศ (Local content ) 40% ซึ่งในแง่เทคนิค มีความเป็นไปได้ เพราะภายในประเทศสามารถผลิตได้ และใช้เหล็กในประเทศไม่ต้องนำเข้า ไม่มีต้นทุนด้านภาษีนำเข้า แต่ทั้งนี้ ในภาคเอกชนจะมีการลงทุนค่อนข้างสูงหากต้องการยื่นประมูล ในขณะที่มีจำนวนการจัดซื้อ มีจำกัด หรือไม่เพิ่มขึ้น เอกชนอาจไม่กล้าลงทุนและไม่มีผู้ยื่นประมูล
อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องมีการปรับปรุงทีโออาร์อีกเล็กน้อย เพื่อให้มีความเป็นไปได้ในการลงทุนของเอกชนในประเทศ เช่น การซ่อมบำรุงหลังการขายในราคาที่ตกลงกัน เป็นต้น