นายรณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหาร บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) เปิดเผยว่า รายได้ในปีนี้น่าจะทำได้ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 2.18 หมื่นล้านบาท หลังในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้รายได้หดตัวลง 2.6% มาอยู่ที่ราว 1.58 หมื่นล้านบาท แต่บริษัทตั้งเป้าหมายปี 63 จะกลับมาเติบโตได้ โดยธุรกิจโรงแรมจะเติบโต 5-7% และธุรกิจอาหารเติบโต 10% ตามภาวะเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ
สำหรับรายได้ที่ลดลงในงวด 9 เดือนแรกปีนี้ โดยหลักแล้วมาจากการปิดปรับปรุงโรมแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ รายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (Rev Par) ลดลง 12.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 2,858 บาท/วัน/ห้อง ตลอดจนอัตราการเข้าพัก (Occupancy) มาอยู่ที่ 74.7% หรือ ลดลง 5.7%
ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีโรงแรมภายใต้การบริหารทั้งสิ้น 75 โรงแรม หรือ 14,402 ห้อง โดยเป็นโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 42 โรงแรม หรือ 7,880 ห้อง และ เป็นโรงแรมที่กำลังพัฒนา 33 โรงแรม หรือ 6,522 ห้อง ในส่วน 42 โรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้วนั้น 17 โรงแรม หรือ 4,192 ห้อง เป็นโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของ และ 25 โรงแรม หรือ 3,688 ห้อง เป็นโรงแรมที่อยู่ภายใต้สัญญาบริหาร
ส่วนธุรกิจอาหารในปีนี้คาดว่าจะมียอดขายเติบโต 3-5% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 5-7% แม้ว่ายังมีการเติบโต แต่เป็นการชะลอตัวลง เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และ กำลังซื้อที่หดตัว แต่อย่างไรก็ตาม ในเดือนต.ค. บริษัทเห็นยอดการขายกลับมาเติบโตมากขึ้น ตามธุรกิจ Delivery และ การทำโปรโมชั่นของธุรกิจอาหาร
"เรามองทิศทางเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตได้ดีในปี 63 ซึ่งเราคาดว่านักท่องเที่ยวปีหน้าจะอยู่ 42 ล้านคน จากปีนี้ 38 ล้านคน ในขณะเดียวกันจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาช่วยหนุนเศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่อง"นายรณชิต กล่าว
นายรณชิต กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อกิจการ (M&A) ธุรกิจอาหารในประเทศ 2 ดีล และการร่วมทุน (JV) ในต่างประเทศ 1 ดีล โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในช่วงปลายปีนี้
สำหรับการลงทุนในช่วง 3 ปี (ปี 62-64) บริษัทปรับลดงบลงทุนเหลือ 2.1 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ 2.7 หมื่นล้านบาท โดยการปรับลดงบลงทุนครั้งนี้เพื่อที่จะให้เหมาะสมเนื่องจากการเข้าซื้อกิจการ หรือ การควบรวมมีความชัดเจนแล้ว สำหรับงบลงทุน แบ่งเป็น การลงทุนในโรงแรม 1.56 หมื่นล้านบาท และธุรกิจอาหาร 5.43 พันล้านบาท โดยเงินที่จะลงทุนมาจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน และ กระแสเงินสดของบริษัท
"สำหรับราคาหุ้นบริษัทที่ร่วงลงอย่างหนักจนมีนักลงทุนสอบถามเรื่องต้องการให้บริษัทนำเงินสดเข้ามาซื้อหุ้นนั้น เรายืนยันว่าไม่มีแผนที่จะเข้าซื้อหุ้น เพราะต้องการเก็บเงินสดไว้ลงทุน โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งบริษัทต้องการให้ราคาหุ้นสะท้อนกับพื้นฐานของผลประกอบการ และ การเติบโตของบริษัทที่แท้จริง"นายรณชิต กล่าว