นายทัตซึยะ โคโนชิตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กรุ๊ปลีส (GL) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อคงค้างในปี 63 เพิ่มขึ้นราว 10-20% หรือแตะ 7 พันล้านบาท แม้ว่าล่าสุดพอร์ตสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นไตรมาส 3/62 อยู่ที่ 6,559 ล้านบาท ลดลง 13.69% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจากสิ้นปี 61 อยู่ที่ 7,549 ล้านบาท
ทั้งนี้ สาเหตุที่พอร์ตสินเชื่อลดลงมาจากกรณีบริษัทต้องปรับลดขนาดธุรกิจสินเชื่อชั่วคราว เพื่อเตรียมพร้อมกระแสเงินสดนำมาทางด้านกฎหมายที่เป็นคดีกับ J Trust ประกอบกับจำนวนพนักงานลดลงและดีลเลอร์เปลี่ยนไปใช้คู่ค้ารายอื่นเพราะกังวลเรื่องคดีทางกฎหมาย แต่ในช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาศาลล้มละลายกลางยกคำร้องคดีฟื้นฟูกิจการของ GL ส่งผลให้สิ้นสุดการพักชำระหนี้ ไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว และข้อกล่าวหาของ J Trust ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง ทำให้ปัจจุบันบริษัทเริ่มสามารถขยายฐานลูกค้าในไทยได้รอบใหม่ คาดว่าจะเห็นการขยายพอร์ตสินเชื่อเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในปี 63
ปัจจุบัน บริษัทฯ มีพอร์ตสินเชื่อในประเทศไทยมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 68%, กัมพูชา 15%, เมียนมา 11%, ลาว 4% และอินโดนีเซีย 2% ตามลำดับ
สำหรับตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ สิ้นไตรมาส 3/62 อยู่ที่ 6.20% ขณะนี้บริษัทมุ่งเน้นการบริหารจัดการดูแลคุณภาพสินเชื่อทั้งในไทยและต่างประเทศ คาดว่าในสิ้นปีนี้ NPL จะลดลงมาอยู่ที่ 5% และในปี 63 บริษัทมีเป้าหมายให้ NPL ปรับลดลงอยู่ในกรอบ 4-4.50%
นายทัตซึยะ กล่าวถึงกรณีศาลล้มละลายกลางยกคำร้องคดีฟื้นฟูกิจการของ GL ส่งผลให้สิ้นสุดการพักชำระหนี้ ไม่มีหนี้สินนั้น แต่ตามกระบวนการทาง J Trust มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 13 ธ.ค.62 เพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป ซึ่งบริษัทเตรียมฟ้องกลับทาง J Trust เช่นกันเป็นมูลค่า 800 ล้านบาท เพื่อชดใช้เป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับกิจการ
ส่วนกรณีคดีฟ้องร้องของ J Trust ที่ฟ้อง GL ในคดีแพ่ง ข้อหาละเมิด บอกล้างโมฆียกรรม และเรียกค่าเสียหาย เพื่อเรียกร้องให้จำเลยทั้งหมดชำระเงินค่าเสียหาย โดยเบื้องต้นกำหนดการพิจารณาคดีในช่วงเดือน มิ.ย.63 ส่วนด้านการดำเนินทางกฎหมายของศาลแห่งประเทศสิงคโปร์ที่ J Trust เริ่มดำเนินการทางกฎหมายกับ Group Lease Holdings Pte.Ltd (GLH) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ที่เป็นบริษัทลูกของ GL ในคดีลูกหนี้กลุ่มสิงคโปร์ที่มีหลักประกันเงินกู้เป็นที่ดินในประเทศบราซิลมูลค่า 900 ล้านบาท และกลุ่มไซปรัส ที่มีหลักประกันเงินกู้เป็นพันธบัตรรัฐบาลมูลค่ากว่า 270 ล้านบาท ล่าสุดอยู่ระหว่างรอกระบวนการตัดสินของศาลฯ ถ้ากรณีบริษัทชนะคดีมีโอกาสบันทึกกำไรพิเศษเข้ามาเพิ่มเติม โดยคาดว่ากระบวนการดังกล่าวน่าจะมีความชัดเจนภายในปี 63
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการ ไตรมาส 4/62 คาดว่า น่าจะดีขึ้น เนื่องจากเป็นไฮซีซั่นของธุรกิจ ส่งผลให้การขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน อีกทั้งคาดว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีทางกฎหมายมีแนวโน้มลดลงจากไตรมาส 3/62 ที่บริษัทมีค่าใช้จ่ายด้านกฎหมายสูงถึง 55 ล้านบาท เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักกระทบผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมา
"คาดว่าในไตรมาส 3/62 ค่าใช้จ่ายเรื่องคดีทางกฎหมายน่าจะมากที่สุดแล้ว และน่าจะลดลงไปเรื่อยๆ ซึ่งบริษัทได้ชำระคืนหนี้หุ้นกู้ไปแล้ว 1,500 ล้านบาทกับธนาคารกสิกรไทย ส่งผลให้ในปัจจุบันเหลือกระแสเงินสดราว 3,000 ล้านบาท เพียงพอต่อการขยายกิจการและเป็นค่าใช้จ่ายในคดีทางกฎหมายในอนาคต"นายทัตซึยะ กล่าว