นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย (THAI) คาดว่าในไตรมาส 4/62 การบินไทยจะขาดทุนลดลงจากไตรมาส 3/62 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 4.68 พันล้านบาท เนื่องจากรายได้จะมากขึ้นตามฤดูกาลท่องเที่ยว(ไฮซีซั่น) โดยขณะนี้มียอดจองตั๋วล่วงหน้ากว่า 80%
สำหรับในไตรมาส 3/62 แม้ว่าผลประกอบการยังเป็นลบ แต่ในไตรมาสนี้บริษัทฯ มีการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายรวม 47,858 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 4,029 ล้านบาท หรือลดลง 7.8%
นายสุเมธ กล่าวว่า ในปัจจุบันมีปัจจัยลบหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจการบินจนทำให้หลายสายการบินต้องปิดตัวลง และอีกหลายสายการบินต่างประสบปัญหาการขาดทุน สาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจโลก การแข่งขันในตลาดที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคของโลก และค่าใช้จ่ายเรื่องอัตราชดเชยเพิ่มเติม กรณีเลิกจ้างสำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย จำนวน 400 วัน ที่มีค่าใช้จ่ายจำนวน 2,700 ล้านบาทในไตรมาสนี้ นอกจากนี้ ปัจจัยภายในที่ยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง คือปัญหาความล่าช้าของการซ่อมเครื่องยนต์ของบริษัทผู้ผลิต
ทั้งนี้ ผลประกอบการไตรมาส 3/62 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 3.7% ส่วนปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 0.6% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 80.0% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 77.5% โดยมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 6.06 ล้านคน สูงกว่าปีก่อน 0.8%
ขณะที่ในงวด 9 เดือนปี 62 รายได้รวม 1.37 แสนล้านบาท ลดลง 7.6% ต้นทุนค่าใช้จ่ายรวมลดลง 2.3% ขาดทุนสุทธิ 1.1 หมื่นล้านบาท จากงวดเดียวกันปีก่อน ที่มีขาดทุนสุทธิ 4.08 พันล้านบาท
นายสุเมธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ปี 62 บริษัทฯ ยังคงดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่องโดยบริษัทฯ ได้ออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายภายในบริษัทฯ โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติอย่างจริงจัง อาทิ ชะลอการลงทุนที่ไม่จำเป็น ปรับปรุงกระบวนการทำงาน (Reprocess) เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ปรับลดสวัสดิการและค่าตอบแทนของฝ่ายบริหารและพนักงาน
ด้านการเพิ่มรายได้ บริษัทฯ ดำเนินกลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้าแบบ Personalize มุ่งเน้นการสร้างรายได้เสริม (Ancillary Revenue) ซึ่งช่วง 9 เดือนของปี 62 (ม.ค.-ก.ย.) มีรายได้เสริมรวม 4,604.17 ล้านบาท เร่งดำเนินงานด้าน Digital Marketing โดยใช้ Big Data และ Data Analytic ในการวิเคราะห์ตลาด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มการขายทาง Online ให้มากขึ้น อีกทั้งบริษัทฯ มีแผนเพิ่มรายได้จาก e-Commerce ซึ่งจะเปิดตัวภายในปีนี้ โดยจะออกมาเป็นแอพพลิเคชั่น THAI World Shopping ที่คาดจะเปิดอย่างเป็นทางการ ต้น ธ.ค. 62 และเตรียมเข้าร่วมมาตรการ"ชิม ช้อป ใช้"
อีกทั้งมีการเปิดเส้นทางบินใหม่ โดยเปิดเส้นทางบินสู่เซนได ประเทศญี่ปุ่น ศูนย์กลางภูมิภาคโทโฮคุ ทำการบินเที่ยวบินแรกไปเมื่อวันที่ 29 ต.ค.62 โดยทำการบิน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งขณะนี้มียอดสำรองที่นั่งล่วงหน้าถึงเดือนมี.ค.63 สูงถึง 80%
ขณะที่ในปี 63 บริษัทฯ ยังคงบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ โดยการจัดซื้อจัดจ้างตั้งเป้าลดลง 10% พร้อมตั้งเป้าจะมีกำไร ขณะที่ทำรายได้ ที่ใช้กลยุทธ์ไม่แข่งขันราคา โดยใช้โปรแกรมรอยัลออคิดพลัส (ROP) เป็นกลไกหลัก ทั้งนี้ การบินไทยจะร่วมมือกับ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ อาทิ ธนาคารกรุงไทย (KTB) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)ในการส่งเสริมการขายให้การบินไทย ขณะที่อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสารคาดอยู่ที่ 78-80%ต้นๆ
นอกจากนี้ จากที่บริษัทฯได้ร่วมมือกับธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ในโครงการ "I Go Thailand" ที่ตลาดจีนที่มีความต้องการ Full Service Airline และอยากมาท่องเที่ยวไทยด้วยสายการบินไทย รวมทั้งร่วมมือธุรกิจ E-Commerce ที่ธนาคารไอซีบีซี มีลูกค้าถือบัตรเครดิตและบัตรเดบิต รวมกว่า 900 ล้านใบ ที่ลูกค้ามีแต้มคะแนนที่การบินไทยจะทำแคมเปญร่วมกัน เช่น แลกซื้อตั๋ว
"ปีนี้ (62)เป็นปีที่ยากลำบาก เจอสิ่งที่ไม่คาดฝันเข้ามารุนแรง ค่าเงินบาทแข็งค่าส่งผลกระทบไม่ใช่แค่ตั๋วเครื่องบิน แต่เป็นปัญหาทั้งประเทศ บาทแข็งกระทบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวบ้านเรา ปีนี้ตั๋วการบินไทยลดลงมาก แต่ราคาขายยังสูงกว่าคู่แข่ง แต่เรายังรักษา Cabin Factor ได้ ส่วนในปี 63 คาดว่าตลาดโดยรวมจะดีกว่าปีนี้ แต่มีการเตรียมพร้อมมากกว่าปีนี้ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเงินบาทจะไปทางไหน ไม่รู้ว่าจีนกับสหรัฐฯเจรจาเป็นอย่างไร สถานการณ์ฮ่องกง และ สถานการณ์ Brexit ด้วย เราเริ่มรู้จากที่เราแย่ ถ้าดีก็ดีกว่าปีนี้"นายสุเมธ กล่าว
อย่างไรก็ตาม การบินไทยยังคงดำเนินการตามแผนฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการหารายได้เสริม และยังคงมีแนวทางการดำเนินงานตามกรอบ 5 กลยุทธ์ ได้แก่ การเร่งทำกำไรเพิ่มจากการตลาดเชิงรุกและมีต้นทุนที่แข่งขันได้, การพัฒนาศักยภาพและแสวงหาโอกาสของกลุ่มธุรกิจ, การสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ดีให้กับลูกค้า, การดำเนินงานด้วยนวัตกรรมและดิจิทัลเทคโนโลยี และการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิผล
สำหรับความคืบหน้าแผนการจัดหาเครื่องบิน 38 ลำ นายสุเมธ กล่าวว่า อยู่ระหว่างการวิเคราะห์เส้นทางในอนาคต คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ย.นี้แล้วจึงจะจัดหาเครื่องบินว่าเป็นแบบไหน และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามกรอบเวลา 6 เดือน