นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยว่า แนวโน้มรายได้ในปี 63 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.6 หมื่นล้านบาท จากเป้าปีนี้ที่คาดอยู่ระดับ 3.3 หมื่นล้านบาท ตามแผนทยอยเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มขึ้น ได้แก่ โรงไฟฟ้าไบโอแมส 20 เมกะวัตต์ (MW) ใน อ.จะนะ จ.สงขลา, โรงไฟฟ้าพลังงานลม 30-80 เมกะวัตต์ในเวียดนาม และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในโอมาน เฟสแรก 40 เมกะวัตต์ จากที่มีอยู่ทั้งหมด 5 เฟส กำลังการผลิตรวม 326 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยเข้าระบบทั้งหมดภายในปี 65
ขณะที่เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในปี 63 กว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อทยอยสร้างโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้า กัลฟ์ ปลวกแดง (โครงการ GPD) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 2,650 เมกะวัตต์ ที่ได้เซ็นสัญญาเงินกู้ในวงเงิน 4.1 หมื่นล้านบาท จากกลุ่มสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศรวม 16 แห่งในวันนี้ หลังจากนี้ก็จะเริ่มก่อสร้างโครงการ โดยมีกำหนด COD ในปี 65 รวมถึงโรงไฟฟ้า IPP ตามโครงการ GSRC ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 2,650 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างก่อสร้างมีความคืบหน้าแล้ว 39.5% มีกำหนด COD ในปี 64
นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาโอกาสการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการที่ต้องการหาพันธมิตรร่วมลงทุน ซึ่งรวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ของ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) ด้วย แต่ยังไม่ได้มีการเจรจา เพราะว่าปัจจุบันบริษัทมีการลงทุนในหลาย ๆ โครงการทั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้งการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 โครงการมอเตอร์เวย์ 2 เส้นทาง เป็นต้น
"โรงไฟฟ้าหินกองเรายังไม่ได้คุยรายละเอียดกับเขา แต่เราสนใจทุกโครงการที่กำลังหาพันธมิตร"นายสารัชถ์ กล่าว
นายสารัชถ์ กล่าวอีกว่า ภาพของกลุ่มบริษัทในอีก 5 ปีข้างหน้า รายได้ส่วนใหญ่ก็ยังมาจากธุรกิจไฟฟ้า ขณะที่โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานน่าจะเข้ามาในระดับ 5-10% และรายได้ส่วนใหญ่ยังมาจากในประเทศ เพราะโครงการ GPD และ GSRC ซึ่งเป็นโครงการ IPP ขนาดใหญ่ก็จะเริ่ม COD ขณะที่บริษัทก็ยังมองโอกาสการเข้าลงทุนโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ภาครัฐจะเปิดประมูลใหม่เพิ่มเติม เพราะการที่บริษัทเข้าร่วมก็จะทำให้เกิดการแข่งขันในโครงการรัฐมากขึ้นด้วย แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละโครงการด้วย
ขณะเดียวกัน ยังมองโอกาสการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในต่างประเทศเพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการพลังงานพลังน้ำในลาว ที่ปัจจุบันมีโครงการในมืออยู่ 3 โครงการ กำลังการผลิตราว 600-700 เมกะวัตต์/โครงการ ได้แก่ โครงการ Pak beng โครงการ Pak ley และโครงการ Sanakham ซึ่งยังต้องรอข้อสรุปการเจรจาเพื่อขายไฟฟ้ากลับเข้ามาในไทยก่อนเดินหน้าโครงการต่อไป
ส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ขนาด 6,000 เมกะวัตต์ ในเวียดนามนั้น คาดว่าจะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อใช้ในโครงการราว 5 ล้านตัน/ปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดของโครงการ และความต้องการใช้ไฟฟ้าในเวียดนาม คาดว่าจะมีความชัดเจนในปี 63
นายสารัชต์ กล่าวถึงการได้พัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ในจ.ระยองนั้น แม้จะมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือก๊าซและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (Superstructure) ตามแผน แต่ขณะนี้บริษัทยังไม่ได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือผู้ให้บริการ (Shipper) ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยยังต้องรอข้อกฎระเบียบให้ชัดเจนก่อน เพราะปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ได้เปิดให้นำเข้า LNG อย่างเสรี ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซฯในประเทศที่มีอยู่ในมือขณะนี้ มีสัญญาซื้อขายก๊าซฯกับบมจ.ปตท. (PTT) อยู่แล้วก็จะยังคงรับซื้อก๊าซฯจากปตท.ตามสัญญาต่อไป