บริษัทร่วมทุน บมจ. สแกน อินเตอร์ (SCN), บมจ.เมตะ คอร์ปอเรชั่น (META) และ บมจ. อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ประเทศสาธารณรัฐสหภาพเมียนมา (พม่า) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 220 เมกะวัตต์ (MW) เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้วเมื่อวันที่ 27 ก.ย.62 นั้น ได้รับประทับตราลงนามรับรองการซื้อขายไฟฟ้าจากกระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน (MOEE) ของเมียนมาอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 15 พ.ย.62
นายออง ทีฮา ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด (GEPT) และกรรมการบริหาร META กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู จะรับรู้รายได้ตั้งแต่วันที่เริ่ม COD อัตราค่าไฟที่ 0.1275 เหรียญสหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ Electric Power Generation Enterprise (EPGE) ภายใต้การดูแลของ MOEE เป็นระยะเวลา 30 ปี
โครงการโรงไฟฟ้ามินบูมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 220 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งออกเป็น 4 เฟส ซึ่ง 3 เฟสแรกจะมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งเฟสละ 50 MW และ 70 MW สำหรับเฟสสุดท้าย ปัจจุบันมีผู้ร่วมลงทุนหลักคือ SCN ถือหุ้น 30%, META ถือหุ้น 12%, ECF ถือหุ้น 20% และ Noble Planet Pte. Ltd. (NP) ถือหุ้น 38%
นายฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCN กล่าวว่า บริษัทมีสัดส่วนการลงทุนในโครงการ 30% โดยมีมูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้นกว่า 292 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 10,000 ล้านบาท โดยบริษัทจะทยอยรับรู้รายได้ส่วนแบ่งตามสัดส่วนการถือหุ้นตั้งแต่ไตรมาส 4/62
นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ ECF กล่าวว่า ECF ถือหุ้นในสัดส่วน 20% จะทยอยรับรู้กำไรส่วนแบ่งตามสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งหากดำเนินการก่อสร้างครบทั้ง 4 เฟสแล้ว คาดว่า จะสามารถรับรู้กำไรส่วนแบ่งของโครงการไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของรายได้ค่าไฟฟ้า หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 60-70 ล้านบาทต่อปี สำหรับเฟสที่ 2 3 และ 4 อยู่ระหว่างการปรับแผนงานเพื่อหาทางเร่งการก่อสร้างให้ครบโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้มีการรับรู้รายได้ที่เร็วขึ้นกว่าเดิม โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างเฟส 2 ในช่วงต้นปี 63
ด้านนายศุภศิษฎ์ โภคินจารุรัศมิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร META กล่าวว่า บริษัทจะทยอยรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น 12% โดยโรงไฟฟ้ามินบูสามารถสร้างรายได้เป็นมูลค่าประมาณ 84.4 ล้านบาทในไตรมาส 4/62 และคิดเป็นประมาณ 418.8 ล้านบาทสำหรับปี 63 ซึ่งหากแสงแดดและประสิทธิภาพของโรงงานดีไปเรื่อยๆ จะทำให้สามารถสร้างรายได้มากขึ้นกว่าเดิมที่คาดการณ์ไว้ แต่ไม่เกิน 105% ของที่ผลิตได้ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ EPGE
นอกจาก บริษัทยังได้เล็งเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจด้านงานก่อสร้างที่เป็นรายได้หลักให้เติบโตยิ่งขึ้น ทั้งในเมียนมาเองและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อย่างฟิลิปปินส์และญี่ปุ่น เป็นต้น