นายณัฐนัย อนันตรัมพร กรรมการผู้จัดการ บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม (ITEL) กล่าวว่า บริษัทวางแผนดำเนินงานระยะยาว 3 ปี (63-65) ตั้งเป้ารายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% ต่อปี และมีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 20% ในปี 65 จากล่าสุด 9 เดือนแรกของปี 62 อยู่ที่ 7.48%
ผลการดำเนินงานของบริษัทจะได้รับปัจจัยบวกจาก 3 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย 1.งานบริการโครงข่ายวงจรสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง (data service) เติบโตเฉลี่ย 40% ต่อปี พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายรายได้คิดเป็นสัดส่วน 80% ของรายได้รวม โดยปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้าทั้งจากหน่วยงานรัฐและเอกชน ทั้งห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ปั๊มน้ำมัน ผู้ให้บริการมือถือ โรงพยาบาล ร้านอาหาร กลุ่มงานภาครัฐ
2.ธุรกิจการให้บริการพื้นที่ดาต้า เซ็นเตอร์ (data center) ซึ่งมีสัดส่วน 10% ของรายได้ ซึ่งปัจจุบัน บริษัทมีศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ 2 แห่ง โดยแห่งแรกมีพื้นที่ให้บริการ 369 แร็ค ซึ่งให้บริการเต็มพื้นที่แล้ว ส่วนแห่งที่ 2 มีมากกว่า 1,000 แร็ค คาดว่าภายในสิ้นปี 62 จะมีผู้ใช้บริการ 50-60% ส่วนแผนปี 63 บริษัทคาดว่าจะให้บริการที่เหลืออีก 30% ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มธนาคารและหน่วยงานภาครัฐ
และ 3.ธุรกิจการให้บริการติดตั้งโครงข่ายคมนาคม สัดส่วน 20-30% ของรายได้ โดยมีแนวโน้มเติบโตไปตามการลงทุนโครงข่ายเพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G ซึ่งยังอยู่ในกระแสที่ผู้ให้บริการมือถือ หรือ โอเปอเรเตอร์ ลงทุนกันอย่างคึกคัก โดยบริษัทเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์ที่ติดตั้งโครงข่ายให้กับทรู และเอไอเอส ทำให้บริษัทมีความได้เปรียบในด้านการแข่งขันมากขึ้น
นายณัฐนัย มั่นใจว่ารายได้ในปีนี้จะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 30-40% หรือมีรายได้ราว 2,100 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้ 1,611.36 ล้านบาท หลังจากบริษัทมีงานเพิ่มขึ้นและบริหารจัดการต้นทุนที่ดี พร้อมตุนงานในมือ (backlog) 4,681 ล้านบาท โดยจะมีรายได้ปีนี้จะมาจากการให้บริการโครงข่าย และบริการพื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์ 40% และอีก 60% จะมาจากการติดตั้งโครงข่าย
สำหรับช่วงที่เหลือของปีนี้บริษัทจะรับรู้รายได้ในโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล USO Phase2 จำนวน 715.77 ล้านบาท คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จทั้งหมดและเริ่มรับรู้รายได้จากการให้บริการต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 1/63 เป็นต้นไป
พร้อมกันนี้ บริษัทยังเตรียมเข้าประมูลโครงการ Tele Health ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มูลค่าโครงการรวมกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายโครงการเน็ตประชารัฐ ขณะเดียวกันบริษัทยังเตรียมความพร้อมเข้าประมูลโครงการใหม่ๆ โดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับการวางระบบโครงข่ายเทคโนโลยี 5G ซึ่งเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยกสทช.ได้กำหนดกรอบเวลาการประมูลที่คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงไตรมาส 1/63