(เพิ่มเติม) TSI ตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับปี 63 เพิ่มเป็น 950 ลบ.จาก 600 ลบ.ปีนี้ เดินหน้าล้างขาดทุนสะสม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 18, 2019 14:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวอรลดา เผ่าวิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ (รักษาการ) บมจ.ไทยเศรษฐกิจประกันภัย (TSI) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับในปี 63 ไว้ที่ระดับ 950 ล้านบาท จากปีนี้ที่มั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้า 600 ล้านบาท หลังปัจจุบันมีเบี้ยประกันภัยรับแล้วกว่า 400 ล้านบาท โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถยนต์จะยังมีสัดส่วนใกล้เคียงกับปีนี้ที่ 80% ส่วนอีก 20% เป็นประกันภัยอื่น ๆ พร้อมทั้งยังคงรักษาเงินกองทุน (CAR) ให้อยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 140% ตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของภาพรวมของผลการดำเนินงานในปีนี้และปีต่อไปยังคงมีความท้าทายที่จะกลับมามีกำไรได้ เนื่องจากธุรกิจประกันภัยมีการแข่งขันรุนแรง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้อาจมีโอกาสเกิดการแข่งขันด้านราคา และอาจจะเรียกเก็บเบี้ยจากลูกค้าได้ล่าช้า

อีกทั้งบริษัทยังมีการปรับโครงสร้างธุรกิจประกันภัยต่อให้เข้าที่ พร้อมทั้งลงทุนด้านเทคโนโลยี ให้สามารถเชื่อมต่อกับพันธมิตรและเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น ทำให้บริษัทยังคงมีค่าใช้จ่ายในการพัฒนาธุรกิจอีกสักระยะ ทำให้การคาดการณ์ผลการดำเนินงานยังคงมีความไม่แน่นอนว่าจะสามารถพลิกมีกำไรได้ในช่วงใด โดยที่ผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกปีนี้ยังขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 3.9 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทวางแผนล้างขาดทุนสะสม หลังจากที่ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาได้รับเงินเพิ่มทุนเข้ามา 410 ล้านบาท และได้ทำการลดทุนจดทะเบียนและลดพาร์ ทำให้ขาดทุนสะสมลดลงมาอยู่ที่ 522 ล้านบาท จากเดิมที่กว่า 900 ล้านบาท โดยที่บริษัทยังคงเดินหน้าในการสร้างฐานะทางการเงินให้มีความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมกับยังเดินหน้าในการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับแนวโน้มของธุรกิจประกันภัยในอนาคตและสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นได้

"เรายังพยายามทำผลการดำเนินงานให้ดีขึ้นและสามารถล้างขาดทุนสะสมของบริษัทให้หมดไปได้ พร้อมกับให้ผลตอบแทนคืนกับผู้ถือหุ้นได้ ก็มองว่าในช่วง 3 ปี"นางสาวอรลดา กล่าว

นางสาวอรลดา กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถยนต์ บริษัทได้กระจายการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถยนต์ประเภทอื่น ๆ มากขึ้น จากเดิมที่เน้นการขายประกันภันชั้น 1 ซึ่งเป็นรถใหม่เป็นส่วนใหญ่ ส่งผลมีอัตราความเสียหาย (Loss) ในระดับสูงมาก ทำให้มีต้นทุนและค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นกับบริษัท แต่ล่าสุดเปลี่ยนมานำเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 2 และ 3 ให้กับลูกค้า พร้อมกับกระจายการดีลเลอร์ค่ายรถยนต์รายอื่นมากขึ้น จากเดิมที่เน้นขายให้กับดีลเลอร์ของโตโยต้า ซึ่งจากการปรับการนำเสนอขายผลิตภัซฑ์ประกันภัยในครั้งนี้ ทำให้อัตราการ Loss ลดลงมาเหลือ 65.03% จากปีก่อนที่ 149.68% ทำให้บริษัทมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายลดลง

ขณะเดียวกันบริษัทยังขยายฐานลูกค้าไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น จากเดิมที่บริษัทเน้นการขายกับฐานลูกค้าหลักในกรุงเทพฯและภาคกลาง โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้รุกเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยในภาคใต้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งภาคใต้เป็นภาคที่ลูกค้าให้การตอบรับกับบริษัทเป็นอย่างดี และส่งผลให้เบี้ยรับของบริษัทเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ หลังได้รุกเข้าไปในจังหวัดภูเก็ต และหาดใหญ่มาก่อนหน้านี้แล้ว ปัจจุบันขยายฐานลูกค้าในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนภาคอื่น ๆ บริษัทยังคงเดินหน้าขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคเหนือที่จะเป็นอีกหนึ่งภาคที่จะมีการรุกตลาดมากขึ้น

สำหรับนโยบายและแผนงานในไตรมาส 4/62 และระยะต่อไป บริษัทจะเน้นการรับงานคุณภาพ ควบคู่กับการร่วมงานแบบพันธมิตรกับนายหน้าและตัวแทนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Tailor made products) รวมทั้งการขยายการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มธุรกิจ (B2B) โดยการย้ายสำนักงานใหญ่แห่งใหม่มาที่ใจกลางธุรกิจ เป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมการขยายช่องทาง ในการติดต่อ และให้บริการลูกค้ากลุ่ม B2B ให้มีความสะดวกเพิ่มขึ้น การพัฒนางานบริการทุกด้านพร้อมไปกับการให้บริการสินไหมทดแทนที่จะมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้สามารถตอบรับการรับแจ้ง และการบริการสินไหมให้มีความรวดเร็วขึ้น ซึ่งนโยบายและแผนงานดังกล่าวจะพัฒนาเพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว

ทั้งนี้ ภายหลังการปรับโครงสร้างการบริหารภายใต้การนำของนายธนพล บุญวรุตม์ ประธานกรรมการ ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรให้ปรับตัวรับการแข่งขัน ในอุตสาหกรรม รวมทั้งยังวางกลยุทธ์ในการขยายฐานลูกค้าต่างจังหวัด ที่ผ่านมามีการเติบโตจากสัดส่วน 15% เป็น 35% ในไตรมาส 3/62

"ภายหลังการเพิ่มทุน 410 ล้านบาท เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัทจะนำเงินที่ได้ไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจตามแผนงาน โดยในส่วนการพัฒนาระบบงานหลักที่เกี่ยวกับการขายและการรับประกันคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปี 63 และจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการบริการลูกค้าในระยะต่อไป นอกจากนี้บริษัทยังมีนโยบายขยายการลงทุนเพิ่มเติมด้วยการมองหาโอกาสการลงทุนร่วมกับพันธมิตรเพื่อขยายช่องทางรับรู้รายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้การลงทุนดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ คปภ.กำหนด"นางสาวอรลดา กล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 3/62 บริษัทมีเบี้ยประกันภัยรับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดที่ 151.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87.7% จากไตรมาส 2 ที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 80.6 ล้านบาท จากการเชื่อมระบบการขายและการรับส่งข้อมูลกับนายหน้าและตัวแทน ขณะที่ค่าใช้จ่ายสินไหมและค่าจัดการสินไหมสุทธิลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 33.7% อยู่ที่ 33.0 ล้านบาท

ด้านนางสาวคณิดา นิมมาณวัฒนา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี ของ TSI เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานสำหรับงวด 9 เดือนแรกปีนี้ ขาดทุนสุทธิจำนวน 3.9 ล้านบาท ดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 50.2 ล้านบาท หรือ ขาดทุนลดลง 92%

ทั้งนี้ บริษัทมีเบี้ยประกันภัยรับจำนวน 310.7 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยรับเฉพาะงวด 3 เดือนมีจำนวน 151.3 ล้านบาท การจัดการค่าใช้จ่ายโดยรวมปรับปรุงดีขึ้น โดยเฉพาะการเก็บเบี้ยประกันภัยที่เร็วขึ้น และการติดตามเบี้ยค้างรับที่มีอายุเกินกว่า 1 ปี ได้มากขึ้น โดยอัตราการเก็บเบี้ยประกันตามหลักเกณฑ์ ของสำนักงาน คปภ. ปรับปรุงจาก 45% ในปี 61 เป็น 75% ในไตรมาส 2 และ 90% ในไตรมาส 3 ทำให้สำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่เคยบันทึกไว้ในอดีตลดลงตามไปด้วย

ส่วนค่าสินไหมและค่าใช้จ่ายในการจัดการสินไหมทดแทนสุทธิในปีปัจจุบันลดลงเช่นกัน ส่วนหนึ่งเกิดจากกรมธรรม์ที่สามารถเรียกร้องคืนจากบริษัทประกันต่อเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายรวมสำหรับงวด 3 เดือนลดลง 59.1 ล้านบาท หรือ 36% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของเบี้ยประกันภัยรับในอัตราที่สูงกว่า 80% มีผลทำให้บริษัทต้องสำรองเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ถือเป็นรายได้ (Unearned Premium Reserve : UPR) ตามหลักการบัญชีเพิ่มขึ้น

โดยในไตรมาส 3 บริษัทบันทึกค่าใช้จ่ายจากสำรองเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ถือเป็นรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งสำรองเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ถือเป็นรายได้จำนวนนี้จะสามารถถือเป็นรายได้ในงวดถัด ๆ ไป ตามปีกรมธรรม์ ส่งผลให้บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิสำหรับไตรมาส 3/62 จำนวน 43.1 ล้านบาท เกิดจากค่าใช้จ่ายสำรองเบี้ยประกันที่ยังไม่ถือเป็นรายได้เพิ่มขึ้นตามที่ได้กล่าวข้างต้น การตัดจำหน่ายสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีจำนวน 17.6 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายรวมที่ลดลงจำนวน 28.7 ล้านบาท ผลขาดทุนสูงขึ้นจากปี 61 ซึ่งมีขาดทุนสุทธิ 26.3 ล้านบาท

อนึ่ง TSI มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิตั้งแต่ปี 59 โดยในปีที่แล้ว มีผลขาดทุนสุทธิ 70.97 ล้านบาท ขณะที่ในงวด 9 เดือนแรกปีนี้มีผลขาดทุนสุทธิ 3.94 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ