น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยในงานสัมมนา เรื่อง "กลไกลการคุ้มครองผู้ลงทุนกับการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน" ภายใต้การเสวนาในหัวข้อ "การสร้างกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนเพื่อความยั่งยืนในตลาดทุนไทย" ว่า ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุนอยู่แล้ว โดยมีอยู่ 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนคุ้มครองผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ (SIPF) และกองทุนผู้ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (DIPF) แต่ยังไม่ครอบคลุมตราสารได้ทั้งหมด โดย ก.ล.ต.มีแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุนที่ครอบคลุมครบทุกผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้เตรียมเจรจากับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย, สมาคมบริษัทจัดการลงทุน และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนม.ค.63 เพื่อหารือแนวทางในการจัดตั้งกองทุนฯ ในเบื้องต้นก่อน และหลังจากนั้นอาจจะหารือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อหาแนวทางในการนำกองทุนเดิมมารวมกับกองทุนใหม่เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน
ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าว จะคุ้มครองเฉพาะผู้ลงทุนกับบริษัทตัวกลาง เช่น บริษัทหลักทรัพย์, บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน, บริษัทจัดการกองทุน และผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น โดยรูปแบบของกองทุนฯ จะเข้าไปเยียวยาผู้ลงทุน โดยไม่ให้ผู้ลงทุนต้องรอ ในกรณีที่บริษัทตัวกลางไม่ดำเนินการตามที่ผู้ลงทุนสั่งหรือช้าเกินไปจนเกิดความเสียหาย, หลอกลวง หรือให้คำแนะนำที่ไม่เหมาะสม รวมถึงบริษัทตัวกลางถูกพิทักษ์ทรัพย์ หรือถูกฟ้องล้มละลาย
"กองทุนฯ ไม่ได้มาชดเชยการลงทุนที่ขาดทุนทุกประเภท และไม่เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนไทย แต่จะเกี่ยวกับบริษัทตัวกลาง และผู้ลงทุน เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนให้ได้รับการเยียวยาอย่างรวดเร็ว ซึ่งกองทุนฯ จะไปเรียกเก็บเงินกับบริษัทที่ดำเนินการผิดพลาดอีกครั้งหนึ่ง" น.ส.รื่นวดีกล่าว
ด้านนายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) กล่าวว่า แต่เดิมนั้น ผู้ประกอบธุรกิจมีการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุนร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการดูแลความเสียหายที่เกิดจากข้อพิพาทระหว่างผู้ลงทุนและผู้ประกอบธุรกิจในตราสารที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ดังนั้น การจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุนในตลาดทุนไทย จะมีผลดีต่อการให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมตราสารนอกเหนือจากที่มีอยู่เดิม
นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) กล่าวว่า การสร้างกลไกขึ้นมาคุ้มครองผู้ลงทุน เป็นไปตามแนวทางในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ที่ผู้ประกอบธุรกิจให้ความสำคัญกับผู้ลงทุนเป็นหลัก (put investor first) ซึ่งจะมาช่วยเสริมให้แนวคิดดังกล่าวมีความชัดเจน เป็นรูปธรรม ครอบคลุมทั้งระบบยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การมีหน่วยงานที่เข้ามาดูแลผู้ลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุนในตลาดทุนไทย จะต้องมีวัตถุประสงค์การดำเนินงานที่ชัดเจน และมีกระบวนการที่เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย
ด้านนายเก่งกล้า รักเผ่าพันธุ์ นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) กล่าวว่า ผู้ลงทุนรายย่อยในตลาดทุนไทย ควรได้รับการคุ้มครองอย่างถูกต้องและเหมาะสมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการมีมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาจากการใช้บริการกับผู้ประกอบธุรกิจ และเมื่อปัญหาเกิดขึ้นกับผู้ลงทุนก็ควรมีกลไกที่ช่วยเยียวยาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้ลงทุน โดยจะต้องสอดคล้องกับความเสี่ยงตามแต่ละประเภทผู้ประกอบธุรกิจหรือประเภทผลิตภัณฑ์ที่ผู้ลงทุนต้องเผชิญ ซึ่งการมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ย่อมนำมาซึ่งความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนต่อตลาดทุนไทยในท้ายที่สุด