IRPC ลุ้นมีกำไรสต็อกใน Q4/62 หลังมีโอกาสราคาน้ำมันสูงกว่า Q3/62 ยันลงทุน MARS รอสรุปพันธมิตรใน Q2/63

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 22, 2019 12:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางณิชชา จิรเมธธนกิจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าในช่วงไตรมาส 4/62 มีโอกาสบันทึกกำไรจากสต็อกน้ำมัน หากราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงกว่า 61 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล หลังจากในช่วงไตรมาส 3/62 ราคาน้ำมันปิดที่ระดับ 60 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล แต่ยังมีผลขาดทุนสต็อกน้ำมันราว 1.3 พันล้านบาท

ปัจจัยที่มีผลต่อราคาน้ำมันดิบนั้น มองว่ามาจากปัญหาสงครามทางการค้าที่ทำให้ราคาน้ำมันมีความผันผวน ขณะที่ Saudi Aramco จะมีการขาย IPO เพื่อเข้าตลาดหุ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ของสงครามการค้าเป็นหลักว่าจะมีผลกระทบต่อทิศทางราคาน้ำมันอย่างไร

นอกจากนี้ บริษัทยืนยันว่าโครงการผลิตอะโรเมติกส์ (MARS:Maximum Aromatics Project) กำลังการผลิตพาราไซลีน 1-1.3 ล้านตัน/ปี ไม่ได้มีการยกเลิกโครงการแต่อย่างใด แต่เป็นการปรับกลยุทธ์เพื่อรอจังหวะของตลาดในกลุ่มธุรกิจอะโรเมติกส์ที่ในช่วงนี้ชะลอตัว และยังจะหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนด้วย จากเดิมที่บริษัทจะลงทุนทั้ง 100% คาดในช่วงในไตรมาส 2/63 จะได้ข้อสรุปการหาพันธมิตรด้านการตลาดเพื่อช่วยด้านการขายผลิตภัณฑ์ และคาดว่าจะสรุปแผนลงทุนในปี 64 มูลค่าโครงการราว 4 หมื่นล้านบาท หลังจากนั้นคาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 2/68

ส่วนงบลงทุนปี 63 บริษัทตั้งไว้ที่ 8.5 พันล้านบาท ส่วนใหญ่ราว 4 พันล้านบาทจะใช้ลงทุนโครงการ Utra Clean Fuel Project (UCF) รองรับการผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ที่จะเริ่มก่อสร้างปลายปี 63 แล้วเสร็จในไตรมาส 4/65 และใช้เพื่อบำรุงรักษาโรงงานตามปกติราว 2-2.5 พันล้านบาท เป็นต้น

นางณิชชา กล่าวว่า กลยุทธ์ของบริษัทได้เน้นไปที่การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและนวัตกรรมมาตอบโจทย์ลูกค้า เพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดทั้งคุณภาพและบริการ พร้อมจัดกระบวนการทำงานภายในใหม่ รวมศูนย์ทั้งฝ่ายขายและฝ่ายวิจัยให้สามารถดำเนินงานได้มีประสิทธิภาพสูงและรวดเร็วขึ้น ช่วยเสริมความสามารถการแข่งขันเข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialties) ได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทได้มูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และลดความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) จากที่ปัจจุบันได้รับผลกระทบอย่างมากจากสงครามการค้า ทำให้ความต้องการใช้สินค้าชะลอตัวลง ขณะที่ยังมีปริมาณการผลิตใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ