นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ค่าการกลั่น (GRM) ในช่วงไตรมาส 4/62 เคลื่อนไหวในระดับต่ำกว่าคาดการณ์ หลังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตไม่มากนัก ทั้งในส่วนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันก็ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังไม่มีข้อยุติ ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบก็เพิ่มขึ้นจากสหรัฐด้วย
รวมถึงเกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ 0.5% จากเดิม 3.5% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 นั้น ทำให้ขณะนี้เห็นการสต็อกน้ำมันเตากำมะถันต่ำในปริมาณที่มาก ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนต่อความต้องการใช้ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อเกณฑ์ใหม่ IMO มีผลบังคับใช้ในต้นปีหน้า
นอกจากนี้ เกณฑ์ใหม่ของ IMO ดังกล่าวยังทำให้ส่วนต่าง (สเปรด) ระหว่างน้ำมันดิบและน้ำมันเตากำมะถันสูงที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ปรับตัวลงลึก อยู่ที่ราว -25 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่มากกว่าปกติ ขณะที่สเปรดของผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทอื่น ยังอยู่ในระดับปกติแม้จะต่ำกว่าคาดการณ์บ้าง โดยสเปรดน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยาน อยู่ในระดับ 12-13 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และน้ำมันเบนซิน อยู่ที่ 11-12 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
"สเปรดน้ำมันดีเซล JET น้ำมันเตากำมะถันสูง ต่ำกว่าคาดเพราะภาวะเศรษฐกิจภาพรวม และความไม่แน่นอนของ IMO ทำให้กดดันต่อ GRM"นายบัณฑิต กล่าว
อนึ่ง การคำนวณ GRM มาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงสเปรด ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ, น้ำมันเตา และค่าขนส่ง โดยค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ เคลื่อนไหวในระดับติดลบต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย.จนถึงล่าสุดปิดเมื่อวานนี้ (27 พ.ย.) อยู่ระดับ -0.60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นายบัณฑิต กล่าวว่า ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปรับตัวอยู่ในระดับต่ำตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ต.ค.และเคลื่อนไหวระดับติดลบเล็กน้อยในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าขนส่งทางเรือที่ปรับตัวขึ้น หลังจากสหรัฐประกาศคว่ำบาตรบริษัทในเครือของ COSCO ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งและโลจิสติกส์ใหญ่ที่สุดของจีน และสเปรดน้ำมันเตาที่ปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาด แต่ในส่วนของค่าการกลั่นของโรงกลั่นในประเทศยังดีอยู่ โดยบางโรงกลั่นยังมีค่าการกลั่นเป็นบวกเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม มองว่าค่าการกลั่นในไตรมาส 4/62 ยังอยู่ในระดับที่ดีแม้จะน้อยกว่าที่คาด เพราะในช่วงที่ผ่านมายังมีทิศทางไม่ดีมากนัก แต่เชื่อว่าหลังจากนี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นเพราะเข้าสู่ฤดูหนาวทั่วโลก ทำให้ความต้องการน้ำมันดีเซล และน้ำมันอากาศยานสูงขึ้น ซึ่งยังต้องติดตามทิศทางในช่วงเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีนี้
ขณะที่เบื้องต้นมองว่าราคาน้ำมันดิบ ดูไบ สิ้นปีนี้น่าจะเคลื่อนไหวในช่วง 60-65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาส 3/62 ที่อยู่ระดับ 61.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ก็น่าจะทำให้กลุ่มโรงกลั่นไม่ได้รับผลกระทบจากสต็อกมากนักเมื่อเทียบกับในช่วงไตรมาส 3/62