นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจว่าผลการดำเนินงานในปี 63 จะทำสถิติสูงสุดใหม่ โดยตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้นแตะ 1 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 20-25% จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้กว่า 7 พันล้านบาท โดยผลประกอบการในปีหน้าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการทยอยจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) โซลาร์ฟาร์ม เพิ่มเข้ามาอีก 120 เมกะวัตต์
สำหรับโครงการโซลาร์ฟาร์มที่มีกำหนด COD ในปีหน้า ได้แก่ โครงการโซลาร์ฟาร์มในเวียดนาม กำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ ที่จะสร้างเสร็จภายในไตรมาส 4/62 และจะเริ่ม COD ต้นปี 63, โซลาร์ฟาร์มในมาเลเซียขนาด 37 เมกะวัตต์ที่คาดว่าจะเริ่ม COD ได้ภายในไตรมาส 1/62 และ โซลาร์รูฟท้อปที่บริษัททำให้กับเครือซีพีและโฮมโปรที่จะเริ่ม COD ในไตรมาส 1/63 กำลังการผลิตรวมราว 30 เมกะวัตต์
ขณะเดียวกัน บริษัทจะมีการทยอยรับรู้รายได้จากธุรกิจรับเหมาที่จะเข้ามามากขึ้นในปี 63 จากสิ้นปีนี้ที่คาดว่าจะมีงานในมือ (backlog) เพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านบาท โดยจะรับรู้รายได้ในปีหน้ากว่า 4 พันล้านบาท ได้แก่ งานที่ได้รับมาจาก บริษัท กรุงเทพธนาคม คือ โครงการสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 3 มูลค่างานกว่า 4.5 พันล้านบาท ซึ่งได้มีการเลื่อนส่งมอบงานไปเป็นปีหน้า จึงทำให้บริษัทจะทยอยรับรู้รายได้จากงานดังกล่าวเข้ามาในปี 63 และปี 64
นอกจากนั้น ยังจะรับรู้รายได้งานรับเหมาก่อสร้างสถานีและสายส่งเข้ามาเพิ่มเติม รวมทั้ง งานรับเหมาติดตั้งโซลาร์รูฟท้อป 500 ล้านบาท และอีก 1 พันล้านบาทจะมาจากการส่งมอบงานนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินเส้นทางสาทร-เจริญราษฎร์ที่จะรับรู้รายได้เข้ามาในปีหน้าเข่นกัน
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า สัดส่วนรายได้ในปี 63 จะมาจากธุรกิจรับเหมาเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็น 40% จากปีนี้อยู่ที่ 20% และสัดส่วนรายได้จากธุรกิจพลังงานจะลดลงมาที่ 60-65% จากปีนี้ที่ 80% ตามกำหนดรับรู้รายได้งานรับเหมาที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทยังคงเดินหน้าประมูลงานใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องหางานใหม่เข้ามาอีก 5 พันล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต
ทั้งนี้ ในปี 63 บริษัทจะเข้าประมูลงานอีก 1.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น งานรับเหมาก่อสร้างสถานีและสายส่ง มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงานของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และงานอีก 5 พันล้านบาท จะเป็นงานรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลของชุมชนต่าง ๆ และโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ บริษัทยังมีโอกาสจะเข้าร่วมประมูลการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าแบบดิจิทัล ของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่จะเริ่มทยอยเปลี่ยนในปี 63 จำนวนมาก ซึ่งเป็นงานที่เสริมเข้ามา และยังมองโอกาสลงทุนและรับเหมางานก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนภายใต้การสนับสนุนของนโยบายรัฐบาลในปี 63
บริษัทมีความพร้อมด้านเงินลงทุนจากกระแสเงินสดที่มีอยู่ค่อนข้างมาก และยังมีความสามารถในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้เพิ่มเติมอีก รวมทั้งมีวงเงินที่เตรียมไว้สามารถออกหุ้นกู้เพิ่มเติมได้ ซึ่งในช่วงเดือน พ.ค.63 บริษัทจะมีการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอน มูลค่า 1 พันล้านบาท