(เพิ่มเติม) PRINC วางงบลงทุน 3 ปีราว 5-6 พันลบ.ขยาย รพ.ครบ 20 แห่งในปี 66,เล็งร่วมทุนพันธมิตรญี่ปุ่นทำศูนย์ผู้สูงอายุ/ศูนย์โรคสมอง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 2, 2019 15:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล (PRINC) วางงบลงทุน 3 ปีราว 5-6 พันล้านบาท เพื่อขยายโรงพยาบาลให้ครบ 20 แห่งภายในปี 66 จากปัจจุบันที่มีอยู่ 10 แห่ง โดยมีแผนขายอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ อีก 2 แห่งเพื่อนำเงินมาใช้รองรับการลงทุนดังกล่าว รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรจากญี่ปุ่น คาดว่าจะสรุปอย่างน้อย 1 รายในปี 63 เพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุ หรือเปิดศูนย์รักษาโรคเกี่ยวกับสมอง

อย่างไรก็ตาม แผนลงทุนดังกล่าวอาจจะทำให้ผลประกอบการในช่วง 1-2 ปีนี้ยังต้องประสบกับการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง แต่เขื่อว่าจะพลิกเป็นบวกได้ภายในปี 65

นายสาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริหาร PRINC เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 63 เติบโต 15% จากปีนี้ ตามการรับรู้รายได้เข้ามาเต็มปีของการเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นของธุรกิจโรงพยาบาล ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทในปัจจุบัน โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่เปิดให้บริการแล้ว 8 แห่ง ใน 7 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ นครสวรรค์ อุทัยธานี พิษณุโลก พิจิตร อุตรดิตถ์ และลำพูน และในช่วงต้นปี 63 จะเปิดบริการโรงพยาลแห่งที่ 9 ในจังหวัดศรีสะเกษด้วย

ขณะเดียวกัน บริษัทยังคงเดินหน้าขยายโรงพยาบาลใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้มีโรงพยาบาลทั้งหมดเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 20 แห่ง ภายในปี 66 ซึ่งในช่วง 3 ปีนี้บริษัทวางงบลงทุนไว้เพิ่มจำนวนโรงพยาบาล เน้นลงทุนโรงพยาบาลในเมืองรอง ทั้งการลงทุนโรงพยาบาลใหม่ทั้งหมด 5-6 พันล้านบาท โดยรูปแบบการลงทุนโรงพยาบาลในจังหวัดเมืองรองจะเป็นการร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจการแพทย์ในจังหวัดนั้น ๆ เพื่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ หรือการเข้าไปลงทุนในโรงพยาบาที่มีอยู่แล้วในจังหวัดนั้น ๆ ซึ่งการลงทุนบริษัทจะต้องถือหุ้นในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 60% และมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ไม่ต่ำกว่า 11-12%

ส่วนขนาดของโรงพยาบาลที่บริษัทเข้าไปลงทุนในจังหวัดต่าง ๆ นั้น จะมีจำนวนเตียงอยู่ที่ 60 เตียง ใช้เงินลงทุนราว 350-400 ล้านบาท/แห่ง และทำเลที่จะเข้าไปลงทุนจะต้องอยู่ในทำเลที่ดีและใกล้กับชุมชน

สาเหตุที่เน้นการขยายไปในจังหวัดเมืองงรอง เพราะเห็นโอกาสที่จะเข้าไปยกระดับการบริการด้านการแพทย์ในจังหวัดที่มีการบริการแพทย์ที่ยังไม่ดีมากนัก และสามารถขยายและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลเครือข่ายของบริษัทได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีการแข่งขันที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับจังหวัดใหญ่ ๆ ที่เป็นเมืองหลัก และกรุงเทพฯ

โดยที่ Position ของเครือโรงพยาบาลพริ้นซิเพิล จะเป็นโรงพยาบาล Budget Hospital เจาะกลุ่มลูกค้าระดับรายได้ปานกลาง ที่เป็นลูกค้าชาวไทย แต่ยังให้การบริการด้านการแพทย์และมีทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์และความชำนาญที่มีคุณภาพเทียบกับโรงพยาบาลชั้นนำอื่น ๆ โดยที่ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ คือ บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก ในการมีทีมแพทย์และบุคลากรเข้ามาสนับสนุนการให้บริการรักษาคนไข้ที่เข้ามาใช้บริการ ทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าแม้ว่าเครือโรงพยาบาลพริ้นซิเพิล จะเป็นโรงพยาบาล Budget Hospital แต่ยังมีการรักษาและการให้บริการที่ได้มาตรฐานและเทียบเท่าโรงพยาบาลชั้นนำ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่จะทำให้เครือโรงพยาบาลพริ้นซิเพิลของบริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้ และสามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาไม่นาน คือ การบริหารจัดการต้นทุนที่ดี และลดต้นทุนให้ต่ำลง ซึ่งจะใช้การสร้างเครือข่ายของโรงพยาบาลในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อทำให้มีการบริหารจัดการที่คล่องตัวและรวดเร็ว รวมไปถึงสามารถใช้ทีมบุคลากรและทีมแพทย์ภายในเครือของโรงพยาบาลในการให้บริการได้ รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำเนินงานภายในและการให้บริการกับลูกค้า ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้เริ่มจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารงานภายในก่อน ทำให้การดำเนินงานภายในปัจจุบันเกือบเข้าสู่การที่ไม่ต้องใช้กระดาษแล้ว (Paper Less) และทำให้เกิดประสิทธิภาพและรวดเร็วในการทำงานมากขึ้น

ส่วนแหล่งเงินทุนที่รองรับการลงทุนในการขยายโรงพยาบาลเพิ่มเติม จะมาจากเงินลงทุนที่เป็นการร่วมลงทุนกับพันธมิตรท้องถิ่นในการลงทุนโรงพยาบาลในจังหวัดใหม่ ๆ ให้ครอบคลุมทุกภาค เงินลงทุนจากพันธมิตรที่สนใจเข้ามาลงทุนบริษัท จากเมื่อไม่นานมานี้บริษัทได้เพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ให้กับ IFC และได้รับเงินเข้ามารองรับการลงทุนราว 900 ล้านบาท และหากในอนาคตมีพันธมิตรรายอื่นที่สนใจเข้ามาลงทุนในบริษัทก็ยังเปิดโอกาสให้เข้ามาลงทุนได้

และบริษัทยังมีความสามารถในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินที่ดีอยู่ ประกอบกับยังมีสินทรัพย์ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าในกรุงเทพฯที่เอกมัยและสาทรเหลืออยู่อีก ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนที่สูงมากบริษัทจะพิจารณาขายสินทรัพย์ทั้ง 2 ออกไปเพิ่มเติมในปี 63 เพื่อนำเงินมารองรับการขยายโรงพยาบาลและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทำให้เห็นได้ว่าบริษัทยังมีแหล่งเงินทุนในการรองรับการลงทุนได้ในอนาคต

ทั้งนี้ การลงทุนที่สูงมากในช่วง 1-2 ปีนี้ เพื่อขยายจำนวนโรงพยาบาลในเครือ มองว่าจะส่งผลกดดันต่อผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 1-2 ปีนี้ที่อาจจะมีผลขาดทุนอยู่ เพราะมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่สูง แต่อาจจะพลิกกลับมามีกำไรได้ในปี 65 เพราะมีการเปิดให้บริการที่เพิ่มขึ้นกว่าในปัจจุบัน และการลงทุนจะใช้เงินน้อยลงแล้ว

ขณะที่ในปี 63 บริษัทคาดว่าจะเห็นความชัดเจนของการร่วมทุนกับพันธมิตรญี่ปุ่นในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างน้อย 1 ราย จากปัจจุบันเจรจาอยู่ 2 ราย ซึ่งสนใจร่วมทุนทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในโรงพยาบาล และร่วมทุนทำธุรกิจด้านการรักษาโรคเกี่ยวกับสมอง ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนของการร่วมทุนกับพันธมิตรญี่ปุ่นในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งก่อนในปี 63


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ