บมจ.มิลล์คอนสตีลอินดัสทรีส์ (MILL) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้นำเสนอผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทอีกจำนวน 173 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญจำนวน 173 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท รองรับการจ่ายเงินปันผล จำนวน 40 ล้านหุ้น ให้กับผู้ถือหุ้นที่มีชื่อปรากฏอยู่บนสมุดทะเบียน ณ วันที่ 22 เมษายน 2551 เวลา 12.00 น. ทั้งนี้บริษัทจ่ายปันผลเป็นหุ้นสามัญบริษัท 40 ล้านบาท หรือในอัตรา 10 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นปันผล คิดเป็นการจ่ายในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท และจ่ายเงินปันผลเป็นตัวเงิน จำนวนเงิน 4,800,000 บาท คิดเป็นการจ่ายในอัตราหุ้นละ 0.012 บาทต่อหุ้น
นอกจากนี้ การจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนเพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนหุ้นกับบริษัท เหล็กบูรพา อุตสาหกรรม จำกัด (BRP) โดยจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 25,862,251 หุ้น ให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท เหล็กบูรพา อุตสาหกรรม จำกัด เพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนหุ้น ในอัตรา 1 หุ้นใหม่ของ MILL ต่อ 1 หุ้นของเหล็กบูรพา เพื่อชำระราคาแก่ผู้ถือหุ้นของเหล็กบูรพารวมทั้งสิ้น จำนวน 4 ราย ได้แก่ นายธิติพงศ์ ตั้งพูลผลวิวัฒน์ นายชาน ยุน คิท นายศิริวัฒน์ อนันต์คูศรี และ นางวัชรีย์ ฐิติภาณุเวช
และจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 107,137,749 หุ้นเพื่อเสนอขายแก่ให้กับบุคคลในวงจำกัด (Private Placement:PP ) โดยกำหนดราคาขายหุ้นเพิ่มทุนในส่วนนี้ในราคา 5 บาท ต่อหุ้น ซึ่งราคาดังกล่าวเป็น เป็นราคาที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของราคาตลาดซึ่งคำนวณโดยใช้ราคาปิดถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักย้อนหลัง 15 วันทำการก่อนวันที่คณะกรรมการมีมติ (7 ก.พ.- 28 ก.พ. 2551) โดยเงินที่ได้มาจำนวน 200 ล้านบาท ส่วนหนึ่งใช้เป็นเงินทุนในการซื้อหุ้นสามัญของบริษัท เหล็กบูรพา อุตสาหกรรม จำกัด และ ใช้ชำระหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินของ บริษัท เหล็กบูรพา อุตสาหกรรม จำกัด ส่วนที่เหลือ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท
คณะกรรมการบริษัท อนุมัติการเข้าลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท เหล็กบูรพา อุตสาหกรรม จำกัด จำนวน 65,862,251 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 85.10 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ เหล็กบูรพา ในราคาหุ้นละ 5 บาท จาก บมจ.ไทยแคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น (TCC) และ ผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ของเหล็กบูรพา ได้แก่ นายธิติพงศ์ ตั้งพูนผลวิวัฒน์ นาย ชาน ยุน คิท นายศิริวัฒน์ อนันต์คูศรี และ นางวัชรีย์ ฐิติภาณุเวช โดยชำระค่าหุ้น
ทั้งนี้ เนื่องจากเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น เพื่อรองรับกับความต้องการใช้เหล็กที่เพิ่มมากขึ้น , เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดอัตราการสูญเสียในการผลิตลง เนื่องจากการวางแผนแบ่งการผลิตตามประสิทธิภาพและความเหมาะสมของเครื่องจักร, เพิ่มอำนาจการต่อรองกับผู้จัดจำหน่ายวัตถุดิบในการสั่งซื้อวัตถุดิบ เป็นผลให้สามารถลดต้นทุนของวัตถุดิบได้ ,ประหยัดค่าขนส่ง (Logistic Cost) และเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายไปยังภาคตะวันออก และ เป็นการขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--