PTT-GULF-WHA มั่นใจธุรกิจปี 63 โตดีจากดีมานด์ฟื้น,เทรดวอร์หนุนตลาดนิคมฯ พร้อมเดินหน้าขยายลงทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 3, 2019 18:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัทจดทะเบียนยักษ์ใหญ่ 3 แห่ง บมจ.ปตท. (PTT) ผู้นำธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ผู้นำธุรกิจไฟฟ้า และบมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ผู้นำตลาดนิคมอุตสาหกรรม เห็นพ้องธุรกิจเติบโตดีในปี 63 แม้เศรษฐกิจจะไม่ได้เติบโตมากนัก แต่เชื่อว่าความต้องการใช้ในภาคปิโตรเคมีน่าจะกลับเข้ามาหลังชะลอตัวหนักในช่วง 1-2 ปีนี้ ขณะที่สงครามการค้าแม้จะกระทบต่อธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมี แต่กลับส่งผลดีต่อตลาดนิคมฯในประเทศ หลังนักลงทุนจีนย้ายเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยทั้ง 3 บจ.ไปพร้อมเดินหน้าขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศรองรับการเติบโตในอนาคต

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ ปตท. กล่าวในงานสัมมนา"ส่องหุ้นไทย ฟุบ หรือ ไปต่อ...รับปี 2020" ในหัวข้อเสวนา "ล้วงลึกบริษัทจดทะเบียน ล็อคเป้ากำไร 2020"ว่า ในปี 63 ประเมินราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะเคลื่อนไหวในช่วง 55-65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากความต้องการใช้ยังคงไม่ดี ขณะที่ปริมาณน้ำมันยังโอเวอร์ซัพพลาย ด้านราคาปิโตรเคมียังถูกกระทบจากเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการใช้ลดลงไปมาก กดดันให้ส่วนต่าง (สเปรด) อยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าค่าการกลั่น (GRM) สำหรับธุรกิจโรงกลั่นเริ่มฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/62 หลังจากตลาดเริ่มปรับสมดุลตามเกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เชื่อว่าธุรกิจโรงกลั่นไม่แย่กว่าเดิมและน่าจะกลับขึ้นไปได้ ส่วนปิโตรเคมี ที่ได้รับผลกระทบมากในปีนี้จนทำให้ระดับราคาและสเปรดต่ำเกินไป ทำให้เชื่อว่าการบริโภคจะกลับเข้ามา โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลทั้งคริสต์มาส ปีใหม่ และตรุษจีน ซึ่งจะทำให้เห็นการบริโภคที่ฟื้นตัวขึ้นในระยะต่อไป

สำหรับธุรกิจอื่น ๆ ทั้งในส่วนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจค้าปลีก จะไม่ได้รับผลกระทบ และจะได้ผลดีจากราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวในระดับไม่สูงมาก โดย บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ที่จะมีปริมาณสำรองยาวนานขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการในช่วงที่ผ่านมา ส่วน บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ก็มีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเต็มที่ต่อเนื่อง ด้านบมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) มุ่งขยายไปยังอินโดไชน่าต่อเนื่อง

สำหรับในปี 62 ผลประกอบการของกลุ่มปตท.เผชิญแรงกดดันทั้งในส่วนการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายพนักงานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานใหม่ราว 2-3 พันล้านบาท และมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นตามแผน และยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะส่วนของสเปรดผลิตภัณฑ์ที่ตกต่ำ

"ถ้าไม่อยากจะเสี่ยงมาก ปตท.ก็เหมือน mutual fund เล็กๆ...เราเคยมีปัญหามาในวิฤกติต่างๆ ตั้งแต่ปี 1997 ,2008 ,2014 ,2015 หลายบริษัทขาดทุน แต่ปีนี้ถ้าเรารอดได้ก็น่าจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ"นายชาญศิลป์ กล่าว

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า กลุ่ม ปตท.ยังเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โดยตามแผน 5 ปี (ปี 62-66) กลุ่มปตท.มีงบลงทุนรวม 1.1 ล้านล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นงบลงทุนเฉพาะของปตท.ราว 2 แสนล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะเริ่มเห็นผลมากขึ้นในช่วงปี 65 แต่จะเห็นผลได้อย่างชัดเจนในปี 67 ที่โครงการขยายกำลังการการกลั่นตามโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ของบมจ.ไทยออยล์ (TOP) แล้วเสร็จ

ด้านนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ GULF กล่าวว่า ราคาหุ้น GULF ในปัจจุบันหากพิจารณาจาก P/E ปกติจะเห็นว่าค่อนข้างสูง แต่หากมองที่ P/E Growth เมื่อเทียบกับผลประกอบการที่จะเข้ามาใน 3-4 ปีข้างหน้าตามที่คาดการณ์ไว้ ด้วยราคาหุ้นในปัจจุบัน P/E จะเหลืออยู่ที่ 15-20 เท่า ไม่แพงเมื่อเทียบกับ P/E ตลาดหุ้นที่ปัจจุบันอยู่ที่ 17-18 เท่า โดยบริษัทมี cash flow และ กำไรค่อนข้างต่อเนื่อง และโครงการที่วางแผนไว้ใน 10 ปีข้างหน้าก็ค่อนข้างมีภาพที่ชัดเจน

ทั้งนี้ การตัดสินใจลงทุนโครงการใดๆของบริษัทได้ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้ดำเนินการได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการลงทุนในต่างประเทศก็จะมองประเทศที่สามารถจัดการความเสี่ยงทั้งการเมือง ค่าเงิน และการเติบโต อย่างในเวียดนามมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีละ 7% ขณะที่ในโอมาน ก็จะมีการนำก๊าซฯมาผลิตปิโตรเคมีมากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่วนการผลิตไฟฟ้าก็จะหันไปด้านพลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้เข้าไปลงทุนผลิตไฟฟ้าในโอมานบ้างแล้ว

ส่วนความเสี่ยงเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่า แต่ในส่วนบริษัทไม่ได้รับผลกระทบเพราะเป็นการลงทุนโครงการระยะยาว และได้ซื้อฟอร์เวิร์ดไว้ทั้งหมดแล้ว รวมถึงยังได้ขยายการลงทุนออกไปต่างประเทศค่อนข้างมาก ทำให้พอร์ตการลงทุนมีการกระจายความเสี่ยงและมีความสมดุลมากขึ้น

ด้านนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ของ WHA กล่าวว่า กรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน น่าจะยังไม่ได้ข้อยุติในเร็ววันนี้ ซึ่งที่ผ่านมาก็เริ่มเห็นนักลงทุนจากจีนย้ายออกมาลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น หลังจากที่ดินและค่าแรงงานมีราคาแพงขึ้น โดยมองไทยและเวียดนาม เป็นเป้าหมายสำคัญ ขณะที่ไทยมีโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วย ก็ช่วยสนับสนุนการลงทุนมากขึ้น ซึ่งน่าจะเห็นภาพที่ดีขึ้นต่อเนื่องในปีหน้า

โดยนิคมฯของบริษัทจากเดิมลูกค้าญี่ปุ่นจะเข้ามามากสุด แต่ขณะนี้เป็นนักลงทุนจากจีนมาเป็นอันดับ 1 รองลงมาไต้หวัน คิดเป็นสัดส่วนลงทุนรวม 70% ส่วนญี่ปุ่นเข้ามาเป็นอันดับ 3

ทั้งนี้ บริษัทวางแผนลงทุน 5 ปี (ปี 63-67) ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท เป็นการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยจะเน้นการลงทุนใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภค และโลจิสติกส์ ซึ่งยังมีศักยภาพของการเติบโตค่อนข้างมาก โดยมองว่าในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะยังเติบโตได้แม้จะชะลอตัว แต่ก็ไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ