บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) ที่ระดับ "BBB-" ในขณะเดียวกันยังปรับเพิ่มแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น "Positive" หรือ "บวก" เพื่อสะท้อนความสำเร็จของการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ในประเทศเวียดนามซึ่งเป็นการลงทุนในต่างประเทศครั้งแรกของบริษัทอีกด้วย ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งด้วยว่าโครงการในต่างประเทศของบริษัทจะมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ
อันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่แน่นอนจากโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัท ซึ่งแต่ละโครงการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับหน่วยงานการไฟฟ้าภาครัฐ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนลงจากการขยายการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัท ความเป็นไปได้ที่ระดับการก่อหนี้จะเพิ่มสูงขึ้น และผลกระทบจากความเสี่ยงในต่างประเทศที่มีมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านการดำเนินโครงการในต่างประเทศก็ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่น่ากังวลอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้
อันดับเครดิตของบริษัทอยู่ภายใต้สมมติฐานในการมีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากโรงไฟฟ้าของบริษัท ปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วจำนวนมากกว่า 100 แห่งโดยมีกำลังการผลิตรวมตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอยู่เกือบ 760 เมกะวัตต์
พลังงานแสงอาทิตย์ยังคงเป็นศูนย์กลางของสินทรัพย์ที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าของบริษัท (750 เมกะวัตต์) กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้นั้นมีปัจจัยสนับสนุนมาจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวและความเสี่ยงด้านการดำเนินงานที่อยู่ในระดับต่ำของพลังงานแสงอาทิตย์
โรงไฟฟ้าทุกแห่งของบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้ผลิตและผู้จ่ายกระแสไฟฟ้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ ความเสี่ยงในการไม่ได้รับชำระเงินจากผู้รับซื้อไฟฟ้าในประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ในประเทศเวียดนามนั้นอยู่ในระดับที่สูงกว่า
โครงการในต่างประเทศจะเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตหลัก
เนื่องจากโอกาสในการเติบโตของตลาดภายในประเทศยังคลุมเครือ บริษัทจึงตั้งใจจะขยายการเติบโตในต่างประเทศตามแผนกลยุทธ์หลักของบริษัท โดยบริษัทกำลังพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่หลายแห่งในประเทศเวียดนาม
แม้เวลาจะจำกัด แต่บริษัทก็ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 4 แห่งแรกของบริษัทในประเทศเวียดนาม โดยทุกโครงการเริ่มดำเนินงานในเดือนมิถุนายน 2562 ด้วยกำลังการผลิตรวม 186.72 เมกะวัตต์ บริษัทคาดว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เหลืออีก 50 เมกะวัตต์จะเริ่มดำเนินงานภายในช่วงปลายปี 2562 ได้ บริษัทมีเป้าหมายที่จะเติบโตต่อไปในประเทศเวียดนามโดยวางแผนจะลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมอย่างน้อยอีก 422 เมกะวัตต์ซึ่งจะเริ่มดำเนินงานในปี 2564
เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วทริสเรทติ้งคาดว่ากำลังการผลิตรวมตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่ดำเนินงานแล้วของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,400 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า รายได้จากการดำเนินงานรวมน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.7 พันล้านบาทในปี 2565 จาก 6.2 พันล้านบาทในปี 2562 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายน่าจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 6.0 พันล้านบาทในปี 2565
ผลการดำเนินงานมีความแข็งแกร่ง
ผลงานที่ได้รับการพิสูจน์ของบริษัทในการบริหารโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หลายแห่งให้มีประสิทธิภาพในระดับสูงเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิต ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทเป็นที่น่าพอใจตลอดมา โดยนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการผลิต ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนใหญ่ของบริษัทสูงกว่าปริมาณไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้ตามความน่าจะเป็นที่ระดับ 75% (ระดับ P75)
บริษัทยังมีการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัททรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่า 80% มาโดยตลอดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ในอนาคต พอร์ตโรงไฟฟ้าของบริษัทอาจมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ลดน้อยลงจากราคารับซื้อไฟฟ้าที่มีแนวโน้มลดต่ำลงตามการแข่งขันในตลาด บริษัทยังมีแผนจะขยายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะซึ่งโดยทั่วไปแล้วให้อัตรากำไรที่น้อยกว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ โครงการโรงฟ้าในประเทศเวียดนามยังมีความเสี่ยงจากการหยุดรับซื้อไฟฟ้าอีกด้วย อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 75% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ความเสี่ยงด้านการดำเนินโครงการในประเทศเวียดนาม เมื่อพิจารณาในด้านลบ กลยุทธ์การเติบโตของบริษัทจะทำให้บริษัทต้องเผชิญกับความเสี่ยงในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยเมื่อโครงการในประเทศเวียดนามพัฒนาแล้วเสร็จทั้งหมดก็อาจจะมีกำลังการผลิตตามสัญญาราวครึ่งหนึ่งของบริษัท แม้ว่าความต้องการไฟฟ้าจะเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่โครงการโรงไฟฟ้าในประเทศเวียดนามก็มีความเสี่ยงหลายประการ เช่น การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่าง ๆ การบังคับใช้สัญญา โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เพียงพอ รวมถึงความล่าช้าของงานก่อสร้าง นอกจากนี้ ความเสี่ยงของคู่สัญญาเองก็ยังสูงกว่าอีกด้วย โดยทริสเรทติ้งเห็นว่าสถานะเครดิตของการไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity หรือ EVN) ที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้นนั้นไม่ได้แข็งแรงเท่ากับผู้รับซื้อไฟฟ้าในประเทศไทยที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้น
นอกจากนี้ ระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศเวียดนามในบางจังหวัดโดยเฉพาะบินห์ถ่วนและนินห์ถ่วนนั้นก็กำลังเผชิญกับปัญหาความสามารถในการรองรับปริมาณกระแสไฟฟ้า ส่งผลให้โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท เช่น โครงการ Sinenergy ขนาด 50 เมกะวัตต์อาจถูกจำกัดการรับซื้อไฟฟ้า ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามวางแผนจะพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าที่กำลังเติบโตขึ้น อย่างไรก็ตาม การพัฒนาดังกล่าวไม่น่าจะสำเร็จก่อนปี 2565 ดังนั้นเพื่อความระวัดระวัง ทริสเรทติ้งจึงได้ปรับลดปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าของบริษัทที่อยู่ใน 2 จังหวัดดังกล่าว (กำลังการผลิตรวมกันทั้งสิ้น 136.72 เมกะวัตต์) ลงมาในระดับหนึ่งในช่วง 3 ปีข้างหน้า
การขยายโครงการขนาดใหญ่ยังคงดำเนินต่อไป
อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากการที่บริษัทมีการขยายโครงการขนาดใหญ่ โดยบริษัทจะยังคงขยายการเติบโตเป็นอย่างมากในช่วง 3 ปีข้างหน้า นอกจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมแล้ว บริษัทยังตั้งเป้าที่จะเพิ่มกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะขึ้นอีก 23 เมกะวัตต์จากโครงการใหม่จำนวน 3 แห่ง ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้วโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะมีความเสี่ยงด้านการดำเนินงานที่สูงกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากกระบวนการผลิตแล้ว บริษัทยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านวัตถุดิบจากความผันผวนของปริมาณและราคาอีกด้วย บริษัทยังขยายธุรกิจใหม่ด้วยการซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท ซุปเปอร์ วอเตอร์ จำกัด ซึ่งถือสัมปทานจำหน่ายน้ำดิบและน้ำประปา อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็คาดว่าธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายน้ำของบริษัทจะยังคงมีขนาดเล็กอยู่ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า
การเติบโตอย่างรวดเร็วอาจทำให้บริษัทต้องเผชิญกับภาระหนี้จำนวนมากซึ่งจะลดทอนปริมาณกระแสเงินสดอิสระ โดยโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ การขยายตัวอย่างรวดเร็วจะเป็นปัจจัยที่ท้าทายบริษัทในการที่จะรักษาผลการดำเนินงานให้ยังคงแข็งแรงต่อไป
กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มสมรรถนะทางการเงิน
ในเดือนสิงหาคม 2562 บริษัทประสบความสำเร็จในการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการลงทุนให้แก่บริษัทในอนาคต โดยบริษัทได้ขายโครงการโรงฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 118 เมกะวัตต์ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี หรือ SUPEREIF และรับรู้กำไรจากการขายประมาณ 1.3 พันล้านบาท รวมถึงได้รับเงินสดอีกเกือบ 7 พันล้านบาทสุทธิจากการกลับเข้าไปลงทุนในกองทุนดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ บริษัทได้ใช้เงินดังกล่าวไปกับการชำระคืนเงินกู้จำนวนประมาณ 4.2 พันล้านบาท ซึ่งก็ยังเหลือเงินอีกจำนวน 3.6 พันล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2562 ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนลดลงเหลือประมาณ 58% ณ เดือนกันยายน 2562 จากระดับที่สูงกว่า 60% ในช่วง 3 ปีก่อนหน้า
ระดับการก่อหนี้น่าจะเพิ่มสูงขึ้น
การลงทุนขนาดใหญ่ไม่น่าจะทำให้ระดับการก่อหนี้ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจนกว่าจะถึงปี 2565 โดยโครงการในประเทศเวียดนามนั้นได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากผู้รับเหมาก่อสร้าง ในการนี้ บริษัทจะจ่ายค่าก่อสร้างส่วนใหญ่หลังจากโครงการได้เปิดดำเนินงานแล้ว ซึ่งน่าจะช่วยรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้อยู่ที่ประมาณ 60% ได้ในช่วงปี 2562-2564 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 70% ในช่วงปี 2565
ภายใต้ประมาณการที่ระมัดระวังของทริสเรทติ้ง อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทอาจลดลงเหลือ 9%-10% ได้ในช่วงปี 2563-2565 จากระดับ 12.3% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ทั้งนี้ อัตราส่วนดังกล่าวไม่ได้รวมกำไรจากการขายสินทรัพย์เข้า SUPEREIF เพื่อวัตถุประสงค์ในการเปรียบเทียบ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทอาจสูงกว่านี้ได้หากผลการดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนามดีกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้
เนื่องจากบริษัทน่าจะยังคงเติบโตต่อไป ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่าบริษัทน่าจะสามารถรักษาระดับการก่อหนี้เอาไว้ได้ในระดับที่คาดการณ์ ซึ่งการที่บริษัทมีโรงไฟฟ้าจำนวนมากก็ทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินจากทางเลือกที่สามารถขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานได้
สภาพคล่องยังจัดการได้
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถจัดการกับสภาพคล่องได้อย่างเหมาะสม โดยเงินทุนจากการดำเนินงานน่าจะเพียงพอที่จะรองรับภาระหนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนดในแต่ละปีได้ ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3-4 พันล้านบาทต่อปี ในขณะที่บริษัทต้องชำระคืนหนี้ระยะยาวจำนวน 2-3 พันล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้รวมทั้งเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด ณ เดือนกันยายน 2562 รวมกันอีกประมาณ 4.1 พันล้านบาทสำหรับเป็นแหล่งเงินสดได้อีกทางหนึ่งด้วย
บริษัทและบริษัทย่อยมีข้อกำหนดทางการเงินสำหรับวงเงินกู้ที่มีกับธนาคารและหุ้นกู้ โดยบริษัทต้องดำรงอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ไว้ไม่น้อยกว่า 1.2 เท่าและต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อทุนที่ไม่เกิน 3 เท่า ในขณะที่บริษัทย่อยต้องดำรงอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ไว้ไม่น้อยกว่า 1.1 หรือ 1.2 เท่า และต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อทุนที่ไม่เกิน 2.5 หรือ 3.0 เท่า ซึ่งทั้งบริษัทและบริษัทย่อยต่างก็สามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดดังกล่าว
สมมติฐานพื้นฐาน
กำลังการผลิตรวมตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,400 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า
รายได้จากการดำเนินงานรวมจะอยู่ในช่วง 6.7-8.7 พันล้านบาทในช่วงปี 2563-2565
อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 75%
โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท
บริษัทได้รับเครดิตระยะยาวในการชำระเงินจากผู้รับเหมาก่อสร้างสำหรับงานก่อสร้างโครงการใหม่ในประเทศเวียดนาม
ปริมาณกระแสไฟฟ้าต่อปีที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บางแห่งในประเทศเวียดนามถูกปรับลดลงมาในระดับหนึ่ง
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Positive" หรือ "บวก" สะท้อนความสำเร็จของการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ในประเทศเวียดนามซึ่งเป็นการลงทุนในต่างประเทศครั้งแรกของบริษัท โดยสามารถดำเนินการได้ทันภายในเวลาที่จำกัด แนวโน้มดังกล่าวยังสะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งด้วยว่าโครงการในต่างประเทศของบริษัทจะมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจในอนาคตอันใกล้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับเพิ่มขึ้นหากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนามมีผลการดำเนินงานน่าพอใจอย่างที่คาดไว้ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับลดลงได้หากผลการดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ต่ำกว่าที่คาดการณ์หรือเป้าหมายที่วางไว้ หรือโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากการที่บริษัทไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างเพียงพอ หรือมีการลงทุนโดยใช้เงินกู้มากเกินไป หรือมีต้นทุนในการก่อสร้างที่สูงเกินกว่างบที่ตั้งไว้