ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร HMPRO ที่ "AA-" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 6, 2019 12:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) ที่ระดับ "AA-" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตยังคงสะท้อนสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับบ้านในประเทศไทย รวมไปถึงความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นและความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจำนวนมากของบริษัท ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความท้าทายที่เกิดจากการแข่งขันที่รุนแรง และการเติบโตที่ลดลงของเศรษฐกิจภายในประเทศอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

สถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งด้วยยอดขายที่เติบโตต่อเนื่องและอัตรากำไรที่มีเสถียรภาพ บริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับบ้านในประเทศไทยซึ่งมียอดจำหน่ายรวมอยู่ในอันดับที่ 1 ในอุตสาหกรรมมายาวนานมากกว่าทศวรรษ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมทั้ง 6 ราย ได้แก่ "โฮมโปร", กลุ่มซีอาร์ซี ("โฮมเวิร์ค" และ "ไทวัสดุ"), "สยามโกลบอลเฮ้าส์", "ดูโฮม", "บุญถาวร", และ "อินเด็กซ์ ลิฟวิ่ง มอลล์"

รายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 61.6 หมื่นล้านบาทในปี 2561 จาก 1.85 หมื่นล้านบาทในปี 2551 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีที่ระดับ 13.5% บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ทั้งนี้ บริษัทมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ในช่วงระหว่าง 14.0%-16.5% ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าสูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่รายอื่นในอุตสาหกรรมที่มีอัตรากำไรโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 8%-9%

ยอดขายจากสาขาเดิมยังคงอ่อนตัว

อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในระดับต่ำเช่นในปัจจุบันเมื่อประกอบกับราคาสินค้าทางการเกษตรที่ยังคงอ่อนแออย่างต่อเนื่องได้ส่งผลกระทบในทางลบต่อการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิมของผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับบ้านส่วนใหญ่ซึ่งรวมถึงบริษัทด้วย ทั้งนี้ ยอดขายจากสาขาเดิมของบริษัทเติบโตเพียง 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 และเติบโตในอัตรา 2.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นผลจากการที่บริษัทมียอดขายที่ค่อนข้างสูงจากสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทำความเย็นและป้องกันมลพิษทางอากาศ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันจะส่งผลกระทบทำให้อุปสงค์ภายในประเทศในปี 2562 ยังคงอ่อนตัวลง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยจะเติบโตที่ระดับ 2.8% ในปี 2562 โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 4.1% ในปี 2561 นอกจากนี้ ธปท. ยังคาดการณ์ด้วยว่าการบริโภคของภาคเอกชนภายในประเทศจะเติบโตที่ระดับ 3.8% ในปี 2562 โดยลดลงจากระดับ 4.6% ในปี 2561

ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 1.4% ในปี 2562 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และจะเติบโตที่ระดับ 4% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2563-2565 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 14% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าด้วย

การปรับสัดส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มกำไร

อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทยังคงพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมาอยู่ที่ระดับ 29.3% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 จากเดิมที่ระดับ 28.7% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนอันเกิดจากการปรับสัดส่วนผลิตภัณฑ์ในร้านค้าโฮมโปร โดยรายได้จากกลุ่มสินค้าภายใต้ตราสินค้าของบริษัทและสินค้านำเข้าซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่านั้นมีสัดส่วนคิดเป็น 19%-20% ของยอดขายรวมของบริษัทในช่วงปี 2561 จนถึงในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ในการนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนของสินค้าภายใต้ตราสินค้าของบริษัทและสินค้านำเข้าให้เป็น 25% ของรายได้รวมในระยะยาว

ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้

บริษัทมีความพยายามในการปรับปรุงการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารมาโดยตลอด โดยสัดส่วนของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้รวมของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่ไม่เปลี่ยนแปลงระหว่าง 21%-22% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้นจากการมีคลังสินค้าใหม่ในปี 2562 ยังได้รับการชดเชยจากการที่บริษัทสามารถประหยัดต้นทุนจากการมีสาขาจำนวนมากและความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่ายโลจิสติกส์ด้านการขนส่งและการบริหารจัดการสาธารณูปโภคอีกด้วย

ภาระหนี้เพิ่มขึ้นแต่ยังคงอยู่ในระดับที่รับได้

อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินรวมต่อเงินทุนของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 45.3% ณ เดือนกันยายน 2562 จาก 43.4% ณ สิ้นปี 2561 เนื่องจากบริษัทมีการใช้เงินลงทุนตามแผนค่าใช้จ่ายลงทุนที่มากขึ้น

บริษัทมีแผนการที่จะเปิดสาขาในทุกรูปแบบรวมทั้งสิ้น 111-150 สาขาในระยะปานกลาง ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายลงทุนที่ระดับ 4-5 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2562-2565 โดยเพิ่มจาก 2.9 พันล้านบาทในปี 2561 ดังนั้น จึงเป็นที่คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะยังคงอยู่ที่ระดับ 42%-45% ในระหว่างปี 2562-2565 จาก 43.4% ในปี 2561

บริษัทจะใช้เงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทและเงินกู้ยืมใหม่มาใช้สำหรับการลงทุนดังกล่าว ทริสเรทติ้งคาดว่ากระแสเงินสดเพื่อรองรับภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่ง ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะคงอยู่ในช่วงระหว่าง 46%-52% ในช่วงระยะ 2-3 ปีข้างหน้า

มีสภาพคล่องที่เพียงพอ

บริษัทมีวงจรเงินสดติดลบซึ่งหมายความว่าบริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนส่วนเกินจำนวนมาก บริษัทมีอำนาจในการต่อรองกับเจ้าหนี้การค้าค่อนข้างสูงจากการที่บริษัทมีความแข็งแกร่งจากการประหยัดจากขนาด ในขณะเดียวกัน บริษัทก็มีการควบคุมระดับสินค้าคงเหลือและลูกหนี้การค้าอย่างระมัดระวัง

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีสภาพคล่องที่เพียงพอในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานพื้นฐานสำหรับมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทที่ประมาณ 9.5 พันล้านบาทถึง 1.0 หมื่นล้านบาทต่อปี ในการนี้ บริษัทมีกำหนดการที่จะต้องชำระหนี้ที่จำนวน 4-6 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2562-2565 โดยที่ ณ เดือนกันยายน 2561 บริษัทมีเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 2.3 พันล้านบาท

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

รายได้รวมของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 1%-4% ในระหว่างปี 2562-2565

อัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 30% และ 14% ตามลำดับ

ค่าใช้จ่ายลงทุนรวมจะอยู่ที่ประมาณ 4-5 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2562-2565

สมมติฐานอื่น ๆ เป็นไปตามแนวโน้มในอดีต

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับบ้านในประเทศไทยได้ต่อไป อีกทั้งยังคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้แม้ว่าบริษัทจะมีการขยายธุรกิจก็ตาม

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดในขณะที่ยังคงสามารถรักษาความแข็งแกร่งของงบการเงินเอาไว้ได้ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ลดลงต่ำกว่าคาด หรือหากระดับภาระหนี้ของบริษัทสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากการขยายการลงทุนอย่างมากหรือการมีผลการดำเนินงานที่ปรับตัวลดลงก็ตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ