นายเกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีไอ อีเลคตริค (SCI) ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทมั่นใจว่าผลประกอบการในปี 63 จะพลิกกลับมามีกำไรอย่างแน่นอน และภาพรวมของบริษัทจะเห็นการเติบโตที่มีเสถียรภาพมากขึ้นด้วยการแตกไลน์ธุรกิจไปในหลากหลายรูปแบบ แต่ยังเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเดิม โดยเชื่อว่าจะเข้ามาสนับสนุนการเติบโตของบริษัทได้ต่อเนื่องมากขึ้น
"จริงๆ แล้วในปีนี้งบเดี่ยวของ SCI ไม่ได้มีผลขาดทุน แต่ไปโดนผลกระทบจากโรงงานในประเทศเมียนมา โดยมีทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราแลกเปลี่ยน รวมไปถึงค่าเสื่อมโครงการ ซึ่งใน 1 ไตรมาสมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้อยู่ 20 กว่าล้านบาท ซึ่งตอนนี้งานในเมียนมาไม่เยอะ แต่อย่างไรก็ตามตอนนี้เรามีการเข้าไปประมูลงานใหม่ๆต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเรายังอยู่ระหว่างการเจรจาพันธมิตรจากจีนที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มงานให้กับโรงงาน และมีรายได้มากกว่า 200 ล้านบาทที่เราตั้งเป้าหมายไว้"นายเกรียงไกร กล่าว
ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (Backlog) มูลค่ารวมราว 1,300 ล้านบาท แบ่งเป็นงานงานเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) งานสะพานเหล็กรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) งานตู้สวิตช์บอร์ด และรางเดินสายไฟ
ขณะที่บริษัทได้ขยายงานด้านรับเหมาก่อสร้างเพิ่มเติม โดยอยู่ระหว่างการเข้าประมูลงานร่วมกับพันธมิตรในโครงการสถานีส่งไฟฟ้าย่อยที่คาดว่าจะมีปริมาณงานออกมาทั้งหมดราว 20 โครงการ มูลค่าราว 3,000 ล้านบาท โดยคาดหวังว่าจะได้งานอย่างน้อย 2 โครงการ มูลค่าราว 300 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยเห็นความชัดเจนในช่วงปลายปี 62 ถึงช่วงต้นปี 63
นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมเข้าประมูลโครงการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าดิจิทัลร่วมกับพันธมิตรจากประเทศสิงคโปร์ คาดว่าจะมีงานออกมาทั้งหมดมูลค่าราว 2,000 ล้านบาท จะเห็นความชัดเจนเร็วๆ นี้ ซึ่งหากได้งานดังกล่าวก็คาดว่าจะใช้ระยะเวลารับรู้รายได้ภายใน 2 ปี
สำหรับโรงงานในประเทศเมียนมา บริษัทตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 200 ล้านบาท และเชื่อว่าบริษัทจะไม่ต้องรับรู้ผลขาดทุนจากโรงงานดังกล่าวอีก โดยงานส่วนใหญ่ของโรงงานในเมียนมาจะเป็นงานเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง และบริการชุบกัลวาไนซ์ (สังกะสี) ซึ่งปัจจุบันมีการเจรจากับลูกค้าใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันบริษัทยังเจรจากับพันธมิตรจากจีน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการด้านรับเหมาก่อสร้างเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงโดยเฉพาะ ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้งานของโรงงานดังกล่าวมากขึ้นกว่าเป้าหมาย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรูปแบบของการร่วมมือในครั้งนี้ได้ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนว่าจะเข้ามาร่วมหรือไม่ในช่วงไตรมาส 1/63
ส่วนโครงการก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงและสถานีไฟฟ้าย่อยใน สปป.ลาว ปัจจุบันก็ได้มีการเจรจาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะมีรูปแบบการพัฒนาโครงการในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะทำให้โครงการสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปี 63
นายเกรียงไกร ยังกล่าวถึง บริษัท ที ยูทิลิตี้ส์ จำกัด (TU) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนว่า ปัจจุบันเน้นการเข้าลงทุนในโครงการในรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างหน่วยงานเอกชนกับเอกชน (Private PPA) ที่ปัจจุบันบริษัทติดตั้งโซลาร์รูฟและเริ่มรับรู้รายได้แล้ว 4 เมกะวัตต์ และได้มีการเซ็นสัญญาล่วงหน้าแล้ว 8 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างการติดตั้งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี บริษัทวางเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตทั้งหมดให้ครบ 20 เมกะวัตต์ภายในปี 63
นอกจากนั้น บริษัทยังคงมุ่งเน้นการเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานลม รวมไปถึงไบโอแมส และไบโอแก๊ส ด้วย
"เรายังคงมุ่งเน้นการหางานใหม่ๆ ที่เป็นสาธารณูปโภคด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงไฟฟ้าในรูปแบบพลังงานทดแทน รวมไปถึงโครงการด้านน้ำต่าง ๆ โดยในปี 63 จะเริ่มเห็นความชัดเจนต่าง ๆ ออกมามากขึ้น ซึ่บริษัทได้เตรียมการไว้แล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดต่างๆ ได้ "นายเกรียงไกร กล่าว