นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า บริษัทเดินหน้าสร้างนวัตกรรมใหม่ในการลงทุนอีกครั้งด้วยกลยุทธ์ Smart Beta ซึ่งนำปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างผลตอบแทนที่แตกต่างกันในแต่ละสภาวะตลาดมาใช้ในการลงทุนผ่านกลุ่มกองทุน SCB Smart Beta โดยจะเสนอขายครั้งแรกตั้งแต่วันนี้ -17 ธ.ค.62 นี้ มีนโยบายการลงทุนในตลาดหุ้นไทยทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดเอ็มเอไอ ด้วยการนำ 5 ปัจจัยมาสร้างพอร์ตการลงทุน ประกอบด้วย ปัจจัยด้านคุณภาพ (Quality) ปัจจัยด้านมูลค่า (Value) ปัจจัยด้านแนวโน้มราคา (Momentum) ปัจจัยด้านการกระจายความเสี่ยง (Equal Weight) และปัจจัยด้านขนาด (Large-Cap) โดยจะเสนอขายพร้อมกันจำนวน 5 กองทุน มูลค่ากองทุนละ 3,000 ล้านบาท ด้วยมูลค่าลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท
"การลงทุนแบบ Smart Beta ถือเป็นกลยุทธ์อยู่กึ่งกลางระหว่างกองทุนแบบ Active และ Passive คือ มีโอกาสสร้างผลตอบแทนเหนือตลาดแบบกลยุทธ์ Active ขณะเดียวกันก็มีความคล้ายคลึงกับกลยุทธ์แบบ Passive ที่กำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือกและให้น้ำหนักหุ้นอย่างชัดเจนและเป็นระบบ (Rule-Based)
ทั้งนี้ จากการจัดทำโมเดลจำลองการลงทุนย้อนหลัง (Back Test) ตั้งแต่ ม.ค.49-ส.ค.62 พบว่าการลงทุนแบบ Smart Beta สามารถสร้างผลตอบแทนที่เหนือตลาด เช่น ในช่วงปี 51 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นเดียวกับประเทศไทย แต่เมื่อพิจารณาหุ้นกลุ่ม Quality พบว่ามีผลการดำเนินงานอยู่ที่ -42.35% ซึ่งมีการปรับตัวลดลงต่ำกว่าหุ้นใน SET Index ที่มีผลการดำเนินงานอยู่ที่ -45.1%
และล่าสุดในปี 62 ที่เป็นช่วงสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและมีความผันผวนอยู่มาก หุ้นสองปัจจัยเด่นจากกลุ่ม Momentum และ Quality ก็ถือเป็นหุ้นที่สร้างผลตอบแทนได้โดดเด่นเหนือตลาดโดยรวมในช่วงที่ผ่านมา ด้วยผลการดำเนินงานอยู่ที่ 23.75% และ 17.14% ในขณะที่ SET Index อยู่ที่ 5.4%" นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
สำหรับ 5 กองทุนที่จะเปิดให้นักลงทุนเลือก ประกอบด้วย 1. กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Thai Equity Quality Portfolio (SCBQUALITY) เน้นการลงทุนในหุ้นคุณภาพดี ซึ่งสะท้อนผ่านตัววัดผลประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัท จึงมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในสภาวะเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวหรือตลาดมีความผันผวนสูง
2. กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Thai Equity Value Portfolio (SCBVALUE) เน้นลงทุนในหุ้นมูลค่าที่มีการจ่ายปันผลสูงและราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ซึ่งเป็นหุ้นที่มักสร้างผลตอบแทนได้ดีในสภาวะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวและขยายตัว
3. กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Thai Equity Momentum Portfolio (SCBMOMENT) เน้นลงทุนในหุ้นที่แสดงความแข็งแกร่งของราคาสูงสุดในช่วงที่ผ่านมาและคาดว่าจะรักษาแนวโน้มความแข็งแกร่งของราคาอย่างต่อเนื่อง การลงทุนแบบนี้มักจะสร้างผลตอบแทนที่ดีในสภาวะเศรษฐกิจที่มีการเติบโตปานกลางถึงสูง
4. กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Thai Equity Equal Weight Portfolio (SCBEQUAL) เน้นลงทุนในหุ้นที่มีสภาพคล่องสูง โดยให้น้ำหนักหุ้นเท่ากันทุกตัว ใน 80 ตัวแรกของดัชนี SET 100 ช่วยกระจายความเสี่ยงการลงทุน ทำให้พอร์ตการลงทุนไม่กระจุกตัวอยู่ในเฉพาะหุ้นที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูงเหมือนกับดัชนี
และ 5. กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Thai Equity Large-Cap Multi-Factor Portfolio (SCBLARGE) เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ 20-30 ตัวแรกที่อยู่ในดัชนี SET50 โดยเน้นน้ำหนักลงทุนในหุ้นที่มีคะแนน Quality, Value, Momentum สูงที่สุดเพื่อให้ได้พอร์ตที่ให้ผลตอบแทนที่ดีแต่มีความผันผวนต่ำกว่าตลาด เหมาะกับการลงทุนในระยะยาวท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หรือตลาดมีความผันผวนสูง โดยทุกกองทุนดังกล่าวจะมีการปรับพอร์ตการลงทุนเป็นระยะ
ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถเลือกใช้กลยุทธ์แบบ Smart Beta เพื่อการจัดพอร์ตลงทุนที่แตกต่างกัน อาทิ การจัดพอร์ตแบบ Core-Satellite คือ การแบ่งเงินลงทุนเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกมีการลงทุนในระยะยาวซึ่งเป็นส่วนของ Core ส่วนนี้อาจจะลงทุนในกองทุนแบบเชิงรับ และส่วนที่ 2 เป็นส่วนของ Satellite ซึ่งในส่วนนี้ผู้ลงทุนสามารถลงทุนในกลุ่มกองทุน Smart Beta และสับเปลี่ยนปัจจัยไปเรื่อยๆ ตามสภาวะตลาดแต่ละช่วง หรือจะเลือกลงทุนในกองทุน Smart Beta หลายกองทุนพร้อมกัน ซึ่งประโยชน์ของ Core-Satellite นี้จะทำให้ผู้ลงทุนสามารถสร้างพอร์ตที่เหมาะสมกับตนเอง และยังช่วยกระจายความเสี่ยงในพอร์ตอีกด้วย
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า Valuation ของตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจมากขึ้นหลังจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปรับตัวลดลงมาอยู่ ณ ระดับปัจจุบันที่ 1,558 จุด (6 ธ.ค.62) และคาดว่าในปี 63 บริษัทจดทะเบียนจะมีอัตราการเติบโตของกำไรที่ประมาณ 7% ทำให้ PE ของตลาดหุ้นไทยมาอยู่ที่ 15.3 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่อยู่ในระดับ 15.5 เท่า
ดังนั้น บลจ.ไทยพาณิชย์ จึงมองว่าในปีหน้าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสจะปรับตัวเป็นขาขึ้นได้ เนื่องจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนซึ่งยืดเยื้อมานานน่าจะเริ่มบรรลุข้อตกลงอะไรกันได้บ้างแล้ว ภาคธุรกิจที่เคยชะลอการผลิตหรือหยุดการลงทุนต่างๆ น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ภาคการผลิตและภาคการส่งออกจึงมีโอกาสที่จะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อันจะช่วยบรรเทาความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยลง (Recession)
เมื่อประกอบกับการที่ธนาคารกลางในหลายประเทศดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายก็จะช่วยให้อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำและปริมาณสภาพคล่องในระบบจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไป สิ่งเหล่านี้จะทำให้ตลาดหุ้นสามารถค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้
"การลงทุนยังคงมีความเสี่ยงโดยในปีหน้ามีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังและติดตาม ได้แก่ การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งมีโอกาสสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นทั่วโลกได้ ความขัดแย้งระหว่างประเทศตะวันออกกลางซึ่งจะส่งผลต่อราคาน้ำมัน การเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมถึงทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ" นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว