ADVANC โชว์ทดสอบ 5G แล้วทั่วไทยเปิดให้เข้าทดลองใช้งานได้ 13 ธ.ค.62-3 ม.ค.63

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 13, 2019 18:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอส ถือเป็นผู้ให้บริการรายแรกที่ทดสอบการใช้งานเทคโนโลยี 5G แล้วทั่วประเทศ บนคลื่นความถี่ 2600 เมกกะเฮิรตซ์ โดยร่วมมือกับพันธมิตร สถาบันการศึกษา เทคสตาร์ทอัพ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มหาวิทยาลัยของแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเตศรีราชา หัวเว่ย อีริคสัน

โดยได้เตรียมเทคโนโลยีแบบครบวงจร ตั้งแต่โครงสร้างการทำงานของเทคโนโลยี 5G, อุปกรณ์โครงข่าย, อุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณ, ดีไวซ์, 5G SIM Card สำหรับเชื่อมต่อเพื่อทดสอบ Use Case ต่างๆ บนเครือข่าย 5G พร้อมทั้งการ Workshop เพื่อพัฒนาความรู้ ความชำนาญในทางเทคนิคให้กับบุคลากรในภาคส่วนต่างๆ รวมถึงผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วทุกภูมิภาคและเหล่าพันธมิตรชั้นนำด้านเทคโนโลยี ดำเนินการทดสอบ 5G ครบทุกภูมิภาคทั่วไทยแล้ว เมื่อเดือน พ.ย.62 ทั้งในพื้นที่ภาคกลาง, ภาคตะวันออก, ภาคใต้, ภาคอีสาน และภาคเหนือ

วันนี้เอไอเอสจัดงาน "AIS 5G ที่ 1 ตัวจริง ทดสอบแล้วทั่วไทย" ที่สามย่านมิตรทาวน์ เพื่อเปิดให้ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ประชาชน และผู้เกี่ยวข้องใน 5G Ecosystem ได้เข้ามาสัมผัสและทดลองใช้งาน 5G บนสภาพแวดล้อมจริงใจกลางกรุงเทพฯ เพื่อให้คนไทยได้เห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G ในหลากหลายมิติ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริงในวันที่ 5G มาถึง อันจะเป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และภาคอุตสาหกรรมของประเทศไปอีกขั้น ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยี AIS 5G เพื่อยกระดับประเทศสู่ Thailand 4.0 เริ่มจัดแสดงแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค.62–3 ม.ค.63 ณ สามย่านมิตรทาวน์ ลานกิจกรรม Semi outdoor ชั้น G เปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเครือข่าย คอยสาธิตและให้คำแนะนำตลอดทั้งงาน

นายวสิษฐ์ กล่าวอีกว่า เทคโนโลยีที่ได้ทำการทดสอบและเอามาแสดงคือ 5G Hologram 3 มิติ การนำเทคโนโลยี 3D Hologram การสื่อสารระยะไกลแห่งอนาคต ที่สามารถถ่ายทอดภาพ 3 มิติ ได้แบบ 360 องศา มีความเสมือนจริงและเรียลไทม์ประโยชน์ในการนำไปประยุกต์ใช้ในการประชุมธุรกิจ, การศึกษาทางไกล, การแพทย์, การเกษตร และงานด้านแฟชั่นและบันเทิง ตลอดจนการนำไปใช้พัฒนาเกม, แอนิเมชั่น 3 มิติ, AR (Augmented Reality), VR (Virtual Reality) และ MR (Mixed Reality) ที่ผู้ใช้อาจจะอยู่คนละพื้นที่ให้สามารถแชร์ไอเดียและพัฒนางานร่วมกันได้อย่างสะดวกรวดเร็วและเห็นภาพยิ่งขึ้นช่วยสร้างความชัดเจนในการสื่อสารระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น , 5G VDO Call การทดลองใช้งานโทร 5G VDO Call ข้ามภูมิภาคแบบครบทุก 5 ภาคทั่วไทย ผ่านเครือข่าย 5G ด้วยสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G ซึ่งคุณสมบัติเฉพาะของเทคโนโลยี 5G ที่มีค่าความหน่วงต่ำ ทำให้มีการตอบสนองแบบเรียลไทม์ คมชัดและไม่สะดุด ซึ่งภาพจะมีความละเอียดสูงระดับ Full HD – 4K และสัญญาณเสียงที่คมชัดระดับ Ultra HD voice

นายวสิษฐ์ กล่าวต่อว่า 5G Remote Control Vehicle เทคโนโลยีการบังคับรถยนต์ไร้คนขับทางไกล ผ่านเครือข่าย 5G ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเอไอเอส โดยเป็นการแสดงศักยภาพของเครือข่าย 5G ที่มีความเร็วสูง, ความหน่วงต่ำ และตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ควบคุมรถไม่จำเป็นต้องอยู่ในตัวรถแต่สามารถบังคับรถให้เคลื่อนที่ไปยังพื้นที่อื่นได้ตามต้องการ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในด้านการขนส่งสินค้าในภาคอุตสาหกรรม และการสัญจรในอนาคต

และ 5G Connected Drones การสาธิตบังคับโดรนระยะไกล ระหว่างกรุงเทพฯ และเมืองโคราช จ.นครราชสีมา ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตผ่านเครือข่าย 5G บน Live Network แสดงแนวคิดการใช้งานโดรนในยุค5G ที่ความเร็วสูงและความหน่วงต่ำ ซึ่งคนควบคุมไม่จำเป็นต้องอยู่ที่เดียวกับโดรน แต่สามารถควบคุมโดรนระยะทางไกลได้ผ่านเครือข่ายมือถือ และสามารถ Streaming Video ที่มีความละเอียดสูงกลับมาหาผู้ใช้งานได้ทันที ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์การใช้งานได้หลากหลาย ทั้งด้านการขนส่งและโลจิสติกส์, การเกษตร, ความปลอดภัยสาธารณะ, การกู้ภัย รวมถึงการนำไปใช้ควบคุมโดรนภายในเมืองอัจฉริยะ เพื่อใช้ในการเข้าไปสำรวจพื้นที่

5G The Robotics แนวคิดหุ่นยนต์ ผ่านเทคโนโลยี 5G ที่มีความเร็วสูงและความหน่วงต่ำ โดยประกอบไปด้วย 2 Use Cases คือ 5G The Robotic, the future of store เป็นการแสดงแนวคิด ซูเปอร์มาร์เก็ตในอนาคต ที่ทำงานโดยหุ่นยนต์ ผ่านเทคโนโลยี 5G ทำให้หุ่นยนต์ประมวลผลได้แบบเรียลไทม์และมีความแม่นยำสูง จึงสามารถหยิบสินค้าได้ตรงตามออเดอร์ที่ลูกค้าต้องการสั่งซื้อ และ 5G Smart Little Robot Companion หุ่นยนต์ที่สามารถพูดคุยและตอบคำถามแก่ผู้มาใช้งานช่วยให้จดจำการสั่งการ Smart Connected Devices และการตอบสนองของหุ่นยนต์เป็นไปได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดย Bannee และ Bookky เป็นหุ่นยนต์บรรณารักษ์ (Librarian-Bot) ที่ได้รับการพัฒนาเพื่อปฏิบัติงานที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถสื่อสารกันเองและสื่อสารกับคนได้

หลังจากงานนี้เอไอเอสจะทยอยเปิดเผยความร่วมมือกับพันธมิตรที่มาจากหลายภาคอุตสาหกรรม เพื่อแสดงความพร้อมในการให้บริการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ