นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะซิกแซกขึ้นได้ จากแรงหนุนราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 3 เดือน และการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ก็ได้ข้อตกลงการค้าร่วมกันในเฟสแรก แต่ยังต้องติดตามรายละเอียด และจะลงนามได้เมื่อใด ซึ่งเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมาทางสหรัฐฯก็ไม่ได้ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน
อย่างไรก็ดี ปัจจัยการเมืองในประเทศที่ไม่นิ่ง จากการระดมมวลชนของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนต่างชาติต้องการจะรอดูสถานการณ์ก่อน
ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้เคลื่อนไหวทั้งในแดนบวก-ลบคละกัน พร้อมให้แนวรับ 1,568-1,570 จุด ส่วนแนวต้าน 1,582 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (13 ธ.ค.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 28,135.38 จุด เพิ่มขึ้น 3.33 จุด (+0.01%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,168.80 จุด เพิ่มขึ้น 0.23 จุด (+0.01%) และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,734.88 จุด เพิ่มขึ้น 17.56 จุด (+0.20%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 67.90 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 157.26 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 2.20 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 2.73 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 12.12 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 0.44 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน เพิ่มขึ้น 3.29 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 5.13 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (13 ธ.ค.62) 1,573.91 จุด เพิ่มขึ้น 10.06 จุด (+0.64%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 6,943.64 ล้านบาท เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.62
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ม.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (13 ธ.ค.62) ปิดที่ระดับ 60.07 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 89 เซนต์ หรือ 1.5%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (13 ธ.ค.) อยู่ที่ -0.57 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 30.18 มองกรอบเคลื่อนไหววันนี้ 30.15-30.25 ตลาดรอติดตามผลประชุมกนง.กลางสัปดาห์นี้
- "ค้าปลีก" เผชิญปัจจัยลบรุมเร้า ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หนี้ครัวเรือนพุ่ง ฉุดกำลังซื้อ "แผ่ว" ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างภาษี-บาทแข็ง ไม่เอื้อนักท่องเที่ยวจับจ่าย หวั่นโตต่ำ 2.5% แนะรัฐหนุนมาตรการระยะยาว ชูช็อปปิ้งพาราไดซ์-ช็อปปิ้งสตรีท ปลุกทัวริสต์ ผู้บริโภคชาวไทยใช้จ่าย
- "คมนาคม" เร่งเคลียร์ตัวเลขมูลค่าเสียหายข้อพิพาทคดีทางด่วน เสนอ "ศักดิ์สยาม" ในเดือน ธ.ค.นี้ ก่อนสรุปแนวทางเจรจาขยายสัมปทาน BEM ขณะที่มีทางด่วน 2 สัญญาจะสิ้นสุด ก.พ.63
- อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจาทบทวนและปรับปรุงความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยทำกับคู่เจรจา การเปิดเสรีเพิ่มเติม หรือผนวกเพิ่มข้อบทใหม่ๆในความตกลง เพื่อให้ทันกับสภาพแวดล้อมและรูปแบบทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะมีการทบทวน คือ อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-เกาหลี อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เป็นต้น ซึ่งเอฟทีเอเหล่านี้บังคับใช้มานานแล้ว จึงต้องมีการทบทวนเพื่อให้ดีขึ้น และเปิดเสรีมากขึ้น
- รายงานข่าวจากธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์ของไทยในปัจจุบันเริ่มขยายกิจการไปต่างประเทศเพื่อทำธุรกิจกันมากขึ้น เนื่องจากการทำธุรกิจในประเทศช่วงเวลานี้จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ดี กำลังซื้อในประเทศยังไม่ฟื้น การลงทุนยังชะลอตัว และกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เข้มงวดมากขึ้นทั้งการให้บริการลูกค้าและการปล่อยสินเชื่อโดยเฉพาะรายย่อย รวมทั้งการปรับเปลี่ยนของดิจิทัลแบงก์กิ้ง
- พลังงานปรับแผน "พีดีพี" 2018 ครั้งที่ 1 ในส่วนของพลังงานทดแทน โดยยังคงเป้าหมายแผนการรับซื้อไฟฟ้าไว้เท่าเดิมที่ 18,696 เมกะวัตต์ แต่ปรับเป้าหมายรายเชื้อเพลิงใหม่ หลังโซลาร์ภาคประชาชนพลาดเป้า ขณะที่โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัดชายแดนใต้ล่าช้า พร้อมเด้งรับนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก
*หุ้นเด่นวันนี้
- BAM (บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์) เทรดวันนี้วันแรก ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สังกัดกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ โดยเสนอขาย IPO ที่ 17.50 บาท/หุ้น, BAM และบริษัทย่อย ประกาศผลดำเนินงานงวดไตรมาส 3/62 มีกำไรสุทธิ 881.33 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.32 บาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.16 พันล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.42 บาท
บริษัทฯจัดตั้งขึ้นในปี 2542 ภายใต้พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 เพื่อบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) (BBC) ซึ่งเป็นผลจากวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2540 และขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจให้ครอบคลุมการบริหารจัดการ NPL และ NPA ที่ได้มาจากสถาบันการเงินอื่น ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานกว่า 20 ปี จึงทำให้เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ ที่สุด และมีเครือข่ายมากที่สุดครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
- BBL (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 187 บาท ราคาหุ้น 2 วันปรับลงรวม 17.5 บาท ยิ่งทำให้ Valuations ถูกมากขึ้น PE เหลือ 9 เท่า PBV เหลือเพียง 0.68 เท่า ต่ำสุดเป็นอันดับ 2 รองจาก TMB สำหรับประเด็นซื้อ Permata Bank แพงที่ PBV 1.7 เท่า นำมาเทียบกับ PBV ของ BBL ปีนี้ที่ต่ำผิดปกติไม่ได้ และราคาที่ซื้อใกล้เคียงราคาเฉลี่ยที่มีการ M&A ในอดีต พร้อมคาดกำไรปี 2563 ของ BBL -3% แย่สุดในรอบ 3 ปีตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศ การรวม Permata แม้ไตรมาสเดียว (ดีลแล้วเสร็จ Q3/63) คาดทำให้กำไรพอจะทรงตัวได้ และมีกำไรเพิ่มราว 3.3 พันล้านบาท (+9%) เมื่อรวมเต็มปีในปี 2564 ทั้งนี้ ดีลซื้อ Permata เป็นการออกจาก comfort zone เพื่อเติบโตแบบ Inorganic ที่น่าสนใจเพราะอินโดฯมี GDP โตราว 5% สินเชื่อโต 10% เศษ สูงกว่าไทยมาก
- PTTEP (กรุงศรี) "ซื้อ"เป้า 135 บาท ได้ประโยชน์โดยตรงจากราคาน้ำมันดิบกลับมาฟื้นตัว และไม่มี Over hang จากประเด็นการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันมากวนใจ ขณะที่แนวโน้มงบ Q4/62 จะยังเด่นสุดของกลุ่ม PTT เพราะมีแรงหนุนจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นจากการรับรู้การผลิตจากแหล่งเมอร์ฟี่ที่ซื้อเข้ามาเต็มไตรมาส