IRPC ชงแผน 5 ปีเข้าบอร์ดพรุ่งนี้ทุ่มลงทุนราว 5 หมื่นลบ.พร้อมเดินหน้าผลิตเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษป้อนค่ายรถยนต์

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 16, 2019 16:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันพรุ่งนี้ (17 ธ.ค.) เพื่อพิจารณางบลงทุน 5 ปี (ปี 63-67) ในวงเงินราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโครงการ Utra Clean Fuel Project (UCF) รองรับการผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ราว 7-8 พันล้านบาท ,การลงทุนโครงการผลิตอะโรเมติกส์ (Maximum Aromatics Project: MARS) มูลค่า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะเป็นการลงทุนร่วมกับพันธมิตร รวมถึงการซื้อกิจการและร่วมลงทุน (M&A) ราว 4-5 พันล้านบาท

ทั้งนี้ จะเป็นเงินลงทุนในปี 63 กว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเน้นในโครงการ UCF และการทำ M&A โดยงบประมาณในปีหน้าจะยังไม่ได้จัดสรรสำหรับลงทุนโครงการ MARS เนื่องจากจะกลับมาพิจารณาโครงการนี้อีกครั้งในช่วงกลางปี 63 ซึ่งจะพิจารณาโมเดลธุรกิจและความเสี่ยงต่าง ๆ ประกอบการตัดสินใจ ขณะเดียวกันก็ได้เจรจากับบมจ.ไทยออยล์ (TOP) บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เพื่อหาโอกาสในการลงทุนร่วมกันในโครงการนี้ ซึ่งเบื้องต้นบริษัทยังไม่เร่งรีบสรุปลงทุนในช่วงนี้ หลังจากพบว่าจีนได้ขึ้นโรงงานผลิตพาราไซลีน (PX) หลายโรงขนาดกำลังการผลิตโรงละ 1-3 ล้านตัน/ปี ซึ่งยังกดราคา PX ให้อยู่ในระดับต่ำ

สำหรับในปี 63 คาดว่ามาร์จิ้นของธุรกิจปิโตรเคมีจะดีขึ้นจากปีนี้ หลังสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลงไปราว 40% นั้น จะมีทิศทางที่ดีขึ้น จากที่ล่าสุดสหรัฐและจีน ได้บรรลุข้อตกลงการค้าในระยะแรกแล้ว ก็เชื่อว่าสถานการณ์ต่าง ๆ น่าจะปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาปิโตรเคมีที่ลดลงมากในปัจจุบันทำให้โรงงานหลายแห่งทั่วโลกอาจต้องลดกำลังการผลิต หรือปิดตัวลงซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตบางส่วนหายไป และน่าจะผลักดันให้ราคาปิโตรเคมีน่าจะมีเสถียรภาพและดีขึ้นเล็กน้อย

นอกจากนี้ ในส่วนเกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ 0.5% จากเดิม 3.5% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 นั้น น่าจะเริ่มส่งผลบวกต่อผู้ประกอบการที่ผลิตน้ำมันเตากำมะถันต่ำได้ อย่างบริษัทที่ปัจจุบันมีการผลิตและจำหน่ายอยู่แล้วบางส่วน ขณะที่ค่าการกลั่น (GRM) โดยรวมยังติดตามดูอย่างใกล้ชิด หลังในช่วงก่อนหน้านี้ค่าการกลั่นไม่ดีอย่างที่คิด เพราะในช่วงไตรมาส 4 จะเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้พลังงานสูง แต่เนื่องจากมีกำลังกลั่นใหม่ออกมามากทำให้สถานการณ์ไม่ดีเท่าที่ควร แต่ในช่วงท้ายไตรมาส 4 ก็เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว

นายนพดล กล่าวอีกว่า สำหรับแผนธุรกิจของบริษัทในช่วง 5 ปีข้างหน้า จะเน้นการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งรวมถึงการขยายกำลังการผลิตในลักษณะการขยายแบบคอขวด (debottleneck) โดยใช้เงินลงทุนไม่มาก แต่ให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง และมีผลตอบแทนกลับมาเร็วขึ้น ซึ่งนับเป็นการต่อยอดจากฐานเดิมที่มีอยู่

รวมถึงการเพิ่มพอร์ตธุรกิจการผลิตเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ (Specialties) มากขึ้น ซึ่งน่าจะเห็นชัดเจนในปีหน้า และจะเน้นการขายตลาดในประเทศให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนการขายในประเทศและต่างประเทศอย่างละครึ่ง เนื่องจากตลาดในประเทศยังมีการเติบโตตามเศรษฐกิจที่ยังขยายตัว พร้อมกับจะมุ่งเน้นขยายไปยังภูมิภาคอย่างอินโดนีเซีย และเวียดนามด้วย ซึ่งปัจจุบันส่งเม็ดพลาสติกไปยังสองประเทศดังกล่าวเพื่อใช้ในการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยวางเป้าหมายจะเพิ่มการผลิตเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษในปี 63 เป็นระดับ 60% จาก 55% ในปีนี้ และเพิ่มเป็น 70% ในอนาคต

นอกจากนี้บริษัทยังมองโอกาสขยายความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเข้าสู่ตลาดเม็ดพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีมูลค่าสูงมากขึ้น โดยอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรเพื่อตั้งบริษัทร่วมทุนฝ่ายละ 50% จำหน่ายเม็ดพลาสติกพีพี คอมปาวด์เกรดพิเศษ (PP Comound) เพื่อป้อนให้กับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นคาดว่าจะมีข้อสรุปต้นปี 63 จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิต PP Compound ประมาณ 1.4 แสนตัน/ปี แต่ยังไม่สามารถผลิตได้เต็มที่ หากได้จำหน่ายให้กับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นมากขึ้น ก็จะช่วยหนุนปริมาณการผลิตได้เพิ่มขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนับว่ามีมาร์จิ้นดีกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไปราว 10-15%

อนึ่ง วันนี้ IRPC สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงลูกค้าผู้ประกอบการ ในอุตสาหกรรมพลาสติกระดับประเทศ 15 ราย ร่วมประกาศเจตนารมณ์กับ เพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน และพร้อมนำประเทศสู่สังคม Zero Plastic Waste ต่อไป ด้วยการบริหารจัดการขยะพลาสติกจากแหล่งกำเนิด โดยไม่ปล่อยให้มี Waste Polymer หรือ ของเสียออกจากกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติก ตามโมเดล ECO Solution ของบริษัท ด้วยการบริหารจัดการทั้งห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมพลาสติก (Closed Loop) ซึ่งหมายถึง กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี มีประสิทธิภาพ ไม่ทำให้ขยะพลาสติกที่เกิดจากกระบวนการผลิตออกนอกระบบไปเป็นภาระแก่ชุมชนและสังคม

นอกจากนี้ IRPC ยังได้นำ Big Data สร้างเป็นฐานข้อมูล Plastic Waste Platform เพื่อรวบรวมขยะพลาสติกจากแหล่งผลิตแต่ละโรงงานทั้งของบริษัท และลูกค้า ทำให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่ายขึ้น และการบริหารจัดการขยะพลาสติกมีประสิทธิภาพสูง ประหยัดงบประมาณ และยังใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ