บล.บัวหลวง ประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ในปี 63 ขึ้นไปที่ราว 1,686 จุด กำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (EPS) ที่ 102 บาท เติบโต 10.6% จากปีนี้อยู่ที่ 92 บาท ได้รับแรงหนุนจากบริษัทรายใหญ่ทยอยเข้าจดทะเบียนมากขึ้น แต่มองกระแสเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยจะชะลอตัวลง หลังค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าและผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยต่ำ พร้อมแนะกระจายการลงทุนไปหุ้นในต่างประเทศมากขึ้น
นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า แนวโน้มการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในปี 63 มองว่าจะแกว่งตัวไซด์เวย์ โดยมองกรอบบนของดัชนีอยู่ที่ 1,688 จุด ที่ระดับ P/E 16.5 เท่า และกรอบล่างที่ 1,488 จุด ที่ระดับ P/E 14.5 เท่า
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยถือว่ายังเป็นตลาดหุ้นที่ดีแต่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับต่ำ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ถือว่านักลงทุนแทบไม่มีผลตอบแทนจากการลงทุนเลย ไม่นับผลตอบแทนจากเงินปันผล เนื่องจากดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงต้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1,560 จุด และมาถึงขณะนี้ปรับลงมาใกล้เคียงกับช่วงต้นปี อีกทั้ง ผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะ 3 ปี และ 5 ปี ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำที่ราว 4.7% และ 0.3% ตามลำดับ ต่ำกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯที่ผลตอบแทน 1 ปี 3 ปี และ 5 ปี อยู่ที่ 13.8% 12.6% และ 8.7% ตามลำดับ
สำหรับทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นบริษัทในปีหน้าจะเพิ่มน้ำหนักมากขึ้นกว่าปีนี้ที่มีสัดส่วน 15% แต่จะเน้นกระจายการลงทุนไปยังตลาดหุ้นต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ยังมีการเติบโตของผลตอบแทนอยู่แม้ว่าจะชะลอตัวลงบ้างก็ตาม ซึ่งการเติบโตของตลาดหุ้นสหรัฐฯส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มไอทีที่ยังมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
รองลงมา เป็นตลาดหุ้นเอเชียที่สามารถกระจายการลงทุนมาได้ เช่น ตลาดหุ้นเวียดนาม ที่มีความโดดเด่นจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และการบริโภคในประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง และตลาดหุ้นฮ่องกงที่ยังน่าสนใจ แม้ว่าในปีนี้ฮ่องกงจะมีการประท้วง แต่ดัชนีตลาดหุ้นไม่ได้ปรับลดลง เพราะหุ้นส่วนใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงทำธุรกิจในจีนและประเทศอื่นๆ ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากการประท้วงมากนัก
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยปี 63 แนะเทรดดิ้ง เมื่อดัชนีปรับตัวขึ้นแตะกรอบบนให้ขายทำกำไร และเมื่อดัชนีแตะกรอบล่างให้เข้าซื้อ โดยหุ้นกลุ่มที่มีความน่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มอาหาร กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่ม Consumer Finance กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มโรงพยาบาล
ขณะเดียวกันการลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานยังคงมีความน่าสนใจ เพราะเป็นหนึ่งในทางเลือกการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ยผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะกอง REIT ที่ลงทุนในอาคารสำนักงานและศูนย์การค้าที่ให้ผลตอบแทนสูงถึง 22% ใน 1 ปี และ 13.3% ต่อปีในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา
ด้านกำไรต่อหุ้นของจดทะเบียน (EPS) ในปี 63 มองว่าจะอยู่ที่ 102 บาท หรือเติบโต 10.6% จากปีนี้ที่ 92 บาท เนื่องจากมีปัจจัยหนุนจากการที่มีบริษัทขนาดใหญ่จะทยอยเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล เชื่อว่าจะช่วยผลักดัน EPS ทะลุ 100 บาทได้ หลังจากที่ในช่วง 5 ปีทีผ่านมายังไม่สามารถขึ้นไปแตะที่ 100 บาท
แต่อย่างไรก็ตามกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาลดลงต่อเนื่อง ทำให้การเทรดในตลาดหุ้นไทยแพงขึ้น และในปี 63 ยังมีความท้าทายจากความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างๆที่กระทบต่อเศรษฐกิจ เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การเจรจาสงครามการค้าระหว่บงสหรัฐฯและจีน แนวโน้มค่าเงินบาท ทิศทางราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและต่ดสินใจลงทุน และมีผลต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนในปีหน้าด้วย
นายชัยพร กล่าวว่า ทิศทางของกระแสเงินทุนไหลเข้าในตลาดหุ้นไทยปี 63 คาดว่าจะชะลอตัวลง เนื่องจากค่าเงินบาทยังแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดหุ้นไทยแพงขึ้น อีกทั้งผลตอบแทนจากการลงทุนค่อนข้างต่ำกว่าตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นยุโรป ทำให้ความน่าสนใจลดลง
แต่ก็ต้องติดตามว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการผลักดันการลงทุนโครงการต่างๆของภาครัฐในปี 63 จะสามารถออกมาได้ตามที่คาดหวังไหวหรือไม่ เพราะจะส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น และเป็นปัจจัยบวกต่อการไหลเข้าของเงินลงทุนที่จะกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยไปค่อนข้างไปค่อนข้างมากไนช่วงที่ผ่านมา
"ปี 63 เราก็ยังมองตลาดหุ้นเป็น Asset ที่ให้ตอบแทนมากที่สุด แต่นักลงทุนต้องปรับความคิดและมุมมองการลงทุน ไม่ใช่แค่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างเดียว 100% เหมือนเดิมแล้ว ต้องหันไปมองการกระจายการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศที่ตอนนี้ถือว่าใหมผลตอบแทนดีกว่าตลาดหุ้นไทยมาก ทำให้เรามีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้มากขึ้น"นายชัยพร กล่าว