นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงมองหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ เพิ่มเติม แม้ว่าในปีนี้จะเพิ่งผ่านการเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่อย่าง บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) มูลค่ากว่า 1.3 แสนล้านบาทก็ตาม โดยความคืบหน้าล่าสุดสำหรับการลงทุนในเมียนมา ในส่วนของโครงการผลิตไฟฟ้าป้อนเมืองใหม่ย่างกุ้ง หลังได้รับคัดเลือกจาก New Yangon Development Company (NYDC) ของเมียนมาให้กลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) เป็นผู้ดำเนินการโครงการ คาดว่าจะสามารถส่งแผนงานให้กับทางการเมียนมาพิจารณาได้ภายในครึ่งแรกปี 63
ทั้งนี้ บริษัทได้เข้าไปศึกษารายละเอียดโครงการมากขึ้นเพื่อจัดทำแผนธุรกิจ เบื้องต้นพบว่าทางเมืองใหม่ย่างกุ้งต้องการโครงการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการในระยะแรก (Quick Win) เพื่อให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด ซึ่งต้องพิจารณาความเป็นไปได้ว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ คุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ และทำได้ตามกำหนดเวลาที่กำหนดหรือไม่ เพื่อตอบสนองแผนยุทธศาสตร์ในเรื่องการขยายการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามแนวชายแดนย่างกุ้ง
"NYDC ไม่ได้กำหนดว่าเป็นเชื้อเพลิงประเภทไหน ขอให้ผลิตเร็วที่สุด พื้นที่ NYDC เป็นพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา แต่มีแผนจะจัดตั้งเป็นเขตอุตสาหกรรม เป็นเขตพื้นที่อาศัย ทาง NYDC ก็อยากให้มีโครงการนำร่องด้านสาธารณูปโภคสาธารณูปการ ฉะนั้น ทาง NYDC ก็ไม่ทราบประมาณการว่ามีความต้องการใช้ไฟฟ้าเท่าไหร่ รู้แต่ว่าพื้นที่มีขนาดเท่านี้ และขอให้เริ่มต้นได้ก่อน เป็นสิ่งที่เขาอยากให้เป็น ตอนนี้อยู่ระหว่างการดูข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เขาให้มา ครึ่งแรกปีหน้าก็น่าจะสามารถส่งแผนให้เมียนมาได้"นายชวลิต กล่าว
นายชวลิต กล่าวอีกว่า ส่วนโครงการลงทุนโรงไฟฟ้า Gas to Power กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ (MW) ในเมียนมา หลังจากที่ได้ส่งแผนไปให้ทางการเมียนมานานพอสมควรแล้ว ขณะนี้ยังไม่มีผลสรุปออกมา อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ได้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมรายละเอียดเป็นระยะ ๆ
นอกจากนี้ บริษัทยังมองโอกาสการลงทุนในเวียดนามและไต้หวัน ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยแผนการผลิตไฟฟ้าของไต้หวันในส่วนของโครงการพลังงานลมได้มีการดำเนินการไปค่อนข้างมาก ส่วนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งบริษัทก็เข้าไปดูว่าจะมีโอกาสเข้าไปลงทุนในส่วนใดได้บ้าง โดยยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนได้
"เราเป็น flagship ก็ต้องออกทะเลใหญ่ ถ้าจะมีก็เป็นโครงการใหม่ตอนนี้ก็มีการเจรจาเป็นเรื่องปกติของการพัฒนาธุรกิจที่ต้องไปแสวงหาโอกาสการลงทุน ตรงไหนมีก็เข้าไปดูเป็นหน้าที่ของเราต้องตอบสนองผู้ถือหุ้นในเรื่องคาดการณ์รายได้กำไรขององค์กร...ส่วนเรื่องเงินลงทุน เรามีหน้าที่ดูขีดความสามารถเติบโตอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง"นายชวลิต กล่าว
นายชวลิต กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 63 คาดว่าทั้งในส่วนรายได้และกำไรจะเพิ่มขึ้นจากปีนี้ จากการที่รับรู้ผลการดำเนินงานเต็มปี ทั้งในส่วนของการเข้าซื้อกิจการ GLOW และการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้าใหม่ที่เริ่มตั้งแต่ปีนี้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี และโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำลิก 1 ในลาว, โครงการศูนย์ผลิตสาธารณูปการ จังหวัดระยองแห่งที่ 4 (CUP-4) และโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ขณะที่ปีหน้าจะเริ่ม COD โครงการผลิตไฟฟ้านวนครส่วนขยาย
ส่วนความคืบหน้าการสร้างพลังร่วม หรือ Synergy กับ GLOW นั้น มีความคืบหน้าไปด้วยดี ทั้งในส่วนการจัดหา การเดินเครื่อง การซ่อมบำรุง รวมถึงจะมีการลงทุนโครงข่ายไฟฟ้าและไอน้ำให้เกิดการเชื่อมโยงกัน ซึ่งจะทำให้ช่วยเพิ่มกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี, ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อีก 1,600 ล้านบาท/ปี โดยจะเริ่มทยอยเห็นผลตั้งแต่ปี 63 และจะเห็นได้ชัดตามเป้าหมายภายในปี 67 ขณะที่ GLOW ก็ยังเดินหน้าตามแผนที่จะทำโครงการโรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่นทดแทนโรงเดิมที่หมดอายุ (SPP Replacement) รวม 584 เมกะวัตต์
สำหรับโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลที่เตรียมจะเปิดรับซื้อ 700 เมกะวัตต์ ในปี 63 นั้น เบื้องต้นเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ดี ซึ่งบริษัทก็จะติดตามดูรายละเอียดเงื่อนไขการเปิดรับซื้อไฟฟ้าที่ชัดเจนออกมาก่อน จึงจะสามารถกำหนดรูปแบบธุรกิจและตัดสินใจได้ว่าจะเข้าร่วมดำเนินการหรือไม่อย่างไร
ด้านความคืบหน้าการก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ (Pilot Plant) ขนาด 10 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ในสหรัฐนั้น ขณะนี้มีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น และยังอยู่ระหว่างรอผ่านตามขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งน่าจะเปิดเผยรายละเอียดเบื้องต้นได้ในช่วงต้นปี 63
ปัจจุบัน GPSC มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 5,026 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตแล้ว 4,748 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจะทยอยเข้าระบบภายในปี 66