นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) เปิดเผยว่า บริษัทคาดรายได้ปี 63 จะไม่ต่ำกว่า 3,200 ล้านบาท โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าที่จะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปีหน้ารวม 60 เมกะวัตต์ มาจากโรงไฟฟ้าชีวมวล 50 เมกะวัตต์จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในไตรมาส 1/63 และโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 10 เมกะวัตต์ในไตรมาส 4/63 ส่งผลให้จะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตแล้วรวม 120 เมกะวัตต์
พร้อมกันนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อลงทุนเพิ่มในบริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด เพื่อรองรับการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน โครงการที่ 2 ขนาดกำลังการผลิต 9 เมกะวัตต์ ซึ่งได้รับใบอนญาตซื้อขายไฟฟ้าแล้ว และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยมีกำหนดจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 2/63 หากการเจรจาแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/63 ก็จะทำให้รับรู้รายได้จากการลงทุนเข้ามาทันที
ทั้งนี้ บริษัทมั่นใจในปี 63 จะมีใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในมือครบ 250 เมกะวัตต์ตามเป้าหมายที่วางไว้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 120 เมกะวัตต์ โดยจะมาจากโรงไฟฟ้าชีวมวล 200 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 50 เมกะวัตต์
ปัจจุบัน บริษัทมีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มี PPA แล้วส่วนหนึ่ง และจะต้องหาเพิ่มเติมอีก 90 เมกะวัตต์ จากการเข้าร่วมจัดหาและลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่ล่าสุดรัฐบาลเตรียมประกาศรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชนราว 700 เมกะวัตต์ในปี 63 โดยบริษัทสนใจลงทุนในโรงไฟฟ้าจากชีวมวลและโรงไฟฟ้าชีวภาพ ซึ่งได้มีการเจรจากับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเรียบร้อยแล้ว
สำหรับโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่จะต้องหา PPA เพิ่มเติมอีก 40 เมกะวัตต์ จะมาจากการเข้าร่วมลงทุนผ่านบริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งขณะนี้ได้มีการเจรจาเพื่อเข้าร่วมลงทุนในโครงการที่ 2 แล้ว จำนวน 9 เมกะวัตต์ และส่วนที่เหลืออีก 30 เมกะวัตต์ จะเป็นการเริ่มลงทุนพัฒนาก่อสร้างกับ สยาม พาวเวอร์ จำกัด เพิ่มเติม
นายเชิดศักดิ์ กล่าวอีกว่า หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนในโครงการตามแผนงาน บริษัทอาจจะทำการออกและเสนอขายหุ้นกู้ ล่าสุดได้รับการจัดอันดับเครดิตจากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ที่ "BBB" แต่อย่างไรก็ตาม จะเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีต้นทุนที่ต่ำที่สุด โดยเบื้องต้นเงินกู้โครงการ (Project Finance) จะมีต้นทุนดอกเบี้ยแค่เพียง 4% แต่การออกหุ้นกู้มีอัตราดอกเบี้ยราว 5%
นอกจากนี้ ภายในระยะเวลา 2 ปี (ปี 63-64) บริษัทคาดว่าจะย้าย TPCH จากตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุนได้เพิ่มเติม
ด้านนางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร ของ TPCH กล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการปี 62 รายได้และกำไรยังมีทิศทางที่ดี เนื่องจากสามารถรับรู้รายได้โครงการโรงไฟฟ้าทั้ง 6 แห่ง กำลังการผลิตรวมทั้งหมด 60 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวลช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ (CRB) ,โรงไฟฟ้าชีวมวลแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ (MWE),โรงไฟฟ้าชีวมวลมหาชัย กรีน เพาเวอร์ (MGP) ,โรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน (TSG ) โรงไฟฟ้าชีวมวล พัทลุง กรีน เพาเวอร์ (PGP) และโรงไฟฟ้าชีวมวลสตูล กรีน เพาเวอร์ (SGP) ช่วยสนับสนุนให้รายได้และกำไรเติบโตเพิ่มขึ้น
"ผลประกอบการในปีนี้คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และเนื่องจากบริษัทมีการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวน 6 โรงไฟฟ้า สามารถรับรู้รายได้เต็มปี และมั่นใจว่าผลประกอบการทั้งปีจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน"นางกนกทิพย์ กล่าว
บริษัทยังเร่งเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์1 (TPCH 1) ,โรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์2 (TPCH 2), โรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 5 (TPCH 5 ), โรงไฟฟ้าชีวมวล ปัตตานี กรีน เพาเวอร์ (PTG) ทำให้มีโรงไฟฟ้าชีวมวลสามารถจ่ายไฟเข้าระบบได้ครบทั้ง 10 โรงไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์ (SP) ขนาด 10 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีกำลังการผลิตรวม 119 เมกะวัตต์ภายในปี 63 พร้อมทั้งยังเตรียมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอีกหลายแห่ง และศึกษารูปแบบโรงไฟฟ้าเพื่อชุมชนของรัฐบาลที่มีแผนจะประกาศนโยบายออกมาในเร็ววันนี้