นายบุญชัย ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซาบีน่า (SABINA) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเดินหน้ารักษาฐานลูกค้าต่างประเทศ แม้ว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่า ซึ่งกระทบต่อรายได้ที่ลดลงก็ตาม แต่บริษัทจะยังจำหน่ายสินค้าให้ลูกค้าต่างประเทศ 2 ช่องทางหลักที่สำคัญต่อไป ได้แก่ ช่องทางการส่งออก (Export) แบรนด์ซาบีน่าในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนาม) และช่องทางรับผลิต (OEM) ให้กับลูกค้าในประเทศแถบยุโรป โดยวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้การส่งออกจาก 3% ของยอดขายรวม เป็น 5% ขณะที่สัดส่วนรายได้ OEM จะยังคงอยู่ที่ 8% เท่าเดิม
เนื่องจากสัดส่วนรายได้จาก 2 ช่องทางนี้ไม่ได้สูงเมื่อเทียบกับอีก 2 ช่องทางหลัก คือ การขายผ่านช่องทางรีเทล ผ่านเคาน์เตอร์และซาบีน่า ช็อป และการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ขณะเดียวกัน การรักษาฐานลูกค้าในต่างประเทศยังเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทในแง่ของการขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกในกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง ส่วนการรับผลิตหรือ OEM ทำให้รู้ไลฟ์สไตล์และความต้องการของลูกค้าในยุโรป ซึ่งเป็นศูนย์กลางแฟชั่นโลก ทำให้สามารถอัพเดทเทรนด์ใหม่ได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่น
"การทำตลาดในต่างประเทศผ่าน 2 ช่องทางดังกล่าว บริษัทไม่ได้ใช้นโยบายเชิงรุก โดยเฉพาะในส่วนของ OEM แต่จะใช้วิธีรักษาฐานลูกค้าและรักษาตลาดไว้ แม้ว่าเราจะได้รับผลกระทบในแง่ของรายได้ที่ลดลงเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่ก็เป็นผลกระทบที่ไม่มาก...นอกจากนี้ ตลาดต่างประเทศยังช่วยบาลานซ์โครงสร้างรายได้ให้กับบริษัท ในช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าได้อีกทางหนึ่งด้วย"นายบุญชัย กล่าว
นายบุญชัย กล่าวอีกว่า ในไตรมาส 3/62 รายได้จากช่องทางส่งออกสินค้าแบรนด์ซาบีน่าเติบโต 102% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยหลักมาจากยอดขายในประเทศเวียดนาม ที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตถึง 7.1% ขณะที่รายได้จากช่องทาง OEM ลดลง 5.7% จากปัญหาการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ทำให้ลูกค้าในประเทศอังกฤษซึ่งมีสัดส่วน 70% ของลูกค้า OEM ชะลอการสั่งซื้อในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คำสั่งซื้อของลูกค้าในยุโรปรวมถึงอังกฤษได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว
ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.63 นั้น เห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงเพิ่มขึ้น 5-6 บาทต่อวัน หรือคิดเป็น 1.85% จากวันละ 325 บาทเป็น 331 บาท ไม่มีผลกระทบกับต้นทุนของบริษัท เนื่องจากบริษัทได้เตรียมรับมือกับการปรับขึ้นค่าแรง โดยเน้นดูแลควบคุมต้นทุนในด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีรวมถึงนวัตกรรมการผลิตใหม่ ๆ ทำให้การผลิตสินค้ามีประสิทธิภาพขึ้น รวมถึงการรุกการขายในช่องทางออนไลน์ที่ทำให้ต้นทุนบริหารจัดการเรื่องหน้าร้านและพนักงานขายลดลง
"การปรับขึ้นค่าแรงเฉลี่ย 1.85% อาจจะถือว่าเป็นปัจจัยบวกกับซาบีน่าด้วยซ้ำ เพราะก่อนหน้านี้ เราตั้งสมมติฐานว่าค่าแรงจะปรับขึ้นมากกว่านี้ แต่การปรับขึ้นครั้งนี้น้อยกว่าที่คาดไว้ เท่ากับว่า ซาบีน่าจะได้รับผลกระทบน้อยลงหรือไม่ได้รับผลกระทบเลย ซึ่งทำให้เราอาจจะต้องปรับประมาณการผลการดำเนินงานใหม่อีกครั้งในทิศทางที่ดีขึ้นจากปัจจัยดังกล่าว"นายบุญชัย กล่าว