นายไพบูลย์ นรินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวในงาน SEC Capital Market Symposium 2019 ภายใต้หัวข้อเสวนาเรื่อง "สร้างคุณค่างานวิจัย เสริมศักยภาพตลาดทุนไทย สู่ความยั่งยืน"ว่า คุณค่าของงานวิจัยของตลาดทุน คือ งานวิจัยที่สามารถบอกอนาคตได้ แต่ปัจจุบันบทวิจัยที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนยังมีน้อยมาก และคุณสมบัติของผู้ทำวิจัยไม่ได้สูงมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่จะจบด้านการเงินมา ซึ่งอาจจะมีความเชี่ยวชาญไม่เท่ากับผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมโดยตรง
ประกอบกับยังประสบปัญหาผู้ทำวิจัยไม่เพียงพอ ไม่ครอบคลุม asset class และไม่ยั่งยืน เห็นได้จากปัจจุบันที่มีนักวิเคราะห์อยู่เพียง 300 ราย เมื่อเทียบกับบริษัทจดทะเบียนไทยที่มีอยู่ราว 700 บริษัท และยังมีผลิตภัณฑ์การเงินประเภทอื่น ๆ อีกมาก ขณะที่ก็มีการวิเคราะห์หลักทรัพย์อยู่เพียง 200 บริษัทที่ทำเป็นประจำ และอีก 100 บริษัทที่หมุนเวียนกันทำ ส่วนอีก 400 บริษัทยังไม่มีรายใดทำบทวิเคราะห์ออกมา รวมถึงบทบาทหน้าที่ของ investment research ที่ให้ผู้บริโภคหาข้อมูลในการลงทุนได้นั้นตกเป็นภาระของบริษัทหลักทรัพย์แต่เพียงผู้เดียว
นายไพบูลย์ กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหางานวิจัยที่ขาดแคลน คือ อยากเสนอให้กระทรวงการคลังรวมบทวิเคราะห์หุ้นเป็นการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งมีมาตรการสนุบสนุนด้วยการให้สิทธิลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 3 เท่าสำหรับเงินลงทุน เพื่อจะช่วยกระตุ้นให้บริษัทหลักทรัพย์เพิ่มการลงทุนด้านบทวิเคราะห์มากขึ้นและรองรับกับบริษัทจดทะเบียนไทยที่มีมากขึ้นด้วย
"ผมเคยเสนอแนวคิดนี้ไปแล้วว่าต้องมีหน่วยงานกลาง ตั้งขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์ วิจัยหลักทรัพย์โดยตรง รวมถึงสินทรัพย์อื่น ๆ ด้วย ซึ่งวันนี้มันถึงเวลาแล้วที่เราต้องพัฒนา สร้างคน ขณะเดียวกันผู้กำกับดูแลฯ ก็ต้องเชิดชูงานวิจัยด้วย"นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า สภาตลาดทุนไทยยังอยู่ระหว่างทำแผนโครงการสร้างบุคลากรให้ตลาดทุน ด้วยการเสนอของบสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) โดยจะเริ่มจากการสร้างนักวิเคราะห์, นักลงทุนสัมพันธ์ ไปจนถึงผู้จัดการกองทุน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านตลาดทุน คาดว่าจะได้ข้อสรุปต้นปี 63
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า เมื่อมองในภาพใหญ่ของประเทศที่พัฒนาแล้ว ความสำคัญของงานวิจัยจะตัวเลขคิดเป็น 1% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อปี แต่ไทยเองยังห่างไกลอีกมาก ซึ่งรัฐบาลเองก็มีการส่งเสริมให้บริษัทในไทยมีการทำวิจัยและพัฒนามากขึ้น โดยมีสิทธิในการลดหย่อนทางภาษีถึง 3 เท่าเพื่อเป็นการจูงใจ
สำหรับงานวิจัยที่มีคุณค่าจะต้องตอบโจทย์ที่เป็นปัญหาจริงๆ และใกล้ตัว และที่สำคัญคือต้องถูกนำมาใช้ โดยผู้ที่ทำการวิจัยจะต้องเป็นคนที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง ต้องมีเครือมือวิเคราะห์ที่ดีพอ และข้อมูลต้องครบถ้วน เพื่อให้งานวิจัยสามารถนำไปรองรับการดำเนินนโยบายได้อย่างมั่นใจ
สำหรับความท้าทายด้านงานวิจัยของกระทรวงการคลัง ที่จะต้องดำเนินการต่อ คือ เรื่องของความเหลื่อมล้ำ, รูปแบบการออมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ และการเข้าถึงบริการทางการเงินของ SME
ขณะที่นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า งานวิจัยจะมีคุณค่าเมื่อตอบโจทย์สำคัญของประเทศได้ ซึ่งประเทศไทยมีโจทย์สำคัญ ๆ อยู่ 4 ประการ ได้แก่ กับดักประเทศรายได้ปานกลาง, กับดักการพัฒนาสีเทา, กับดักความเหลื่อมล้ำ และกับดักคอร์รัปชั่น
ทั้งนี้ งานวิจัยเกี่ยวกับตลาดทุนที่จะเข้ามาตอบโจทย์กับดัก 4 ประการนี้ แบ่งเป็น ตลาดทุน VS กับดับรายได้ปานกลาง ซึ่งตลาดทุนควรทำหน้าที่ส่งเสริมการเพิ่ม innovation, เพิ่มการแข่งขันในการผลิตและบริการ, Capital cost สะท้อนต้นทุนสังคมจากการผูกขาด และเพิ่มการลงทุนในมนุษย์ โดยเฉพาะใน missing market ของการศึกษาสำหรับลูกคนจน อีกทั้งตลาดทุน VS กับดักการพัฒนาสีเทา จะต้องส่งเสริมการสร้าง market social values ของ green capital, Risk securities สำหรับ climate changes และ Climate change infrastructure
นอกจากนี้ตลาดทุน VS กับดับความเหลื่อมล้ำ จะต้องทำหน้าที่ส่งเสริม ในเรื่องของความเท่าเทียมของการเข้าถึงแหล่งทุน, เปลี่ยน saving profile ให้เหมาะสมกับสังคมสูงวัย, การระดมเงินทุน ให้กับ SME, social enterprises , เครื่องมือการบริหารความเสี่ยง สำหรับผู้ที่ยังไม่มีความรู้เพียงพอ ขณะที่ตลาด VS กับดักคอร์รัปชั่น ตลาดทุนจะต้องทำหน้าที่ส่งเสริม ในเรื่องความโปร่งใสของกระบวนการระดมทุน และ Capital cost สะท้อนต้นทุนสังคมที่มาจากคอร์รัปชั่น ส่วนข้อเสนอที่จะเป็นทางออกสำหรับงานวิจัย คือ ควรส่งเสริมให้มีนักวิจัยมากขึ้น