หุ้น SFLEX ปิดเทรดช่วงเช้าที่ 3.86 บาท ลดลง 0.02 บาท (-0.52%) จากราคาขาย IPO ที่ 3.88 บาท/หุ้น มูลค่าซื้อขาย 214.58 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 3.64 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 3.88 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 3.50 บาท
นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบมจ.สตาร์เฟล็กซ์ (SFLEX) เปิดเผยว่า ราคาหุ้น SFLEX ที่เข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น เปิดตลาดปรับตัวลดลงมาราว 6% จากราคาเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ 3.88 บาท/หุ้น น่าจะเป็นไปตามภาวะตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลง แต่ในด้านของบริษัทยังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และมีแนวโน้มการเติบโตของผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง มีนโยบายจ่ายเงินปันผลในระดับที่ดี และยังเป็นผู้นำของผู้ผลิตแพ็คเกจจิ้งด้วย
ด้านนายปรินทร์ธรณ์ อภิธนาศรีวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร ของ SFLEX เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีจากนี้ (ปี 63-65) จะเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทั้งเป้าหมายรายได้เติบโตเฉลี่ยปีล 10-15% ขณะเดียวกันมีนโยบายรักษาอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ให้อยู่ในระดับตัวเลข 2 หลัก ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา (ปี 60-61) บริษัทมีอัตรากำไรสุทธิที่ระดับ 10%
การเติบโตของผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีข้างหน้า จะมาจากการขยายลูกค้าใหม่ ๆ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าประมาณ 35-37 ราย เป็นลูกค้ารายใหญ่ จำนวน 4 ราย มีสัดส่วนรายได้มากกว่า 58% และตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนลูกค้าเป็น 40 รายในปี 63 ขณะเดียวกันบริษัทยังมีแผนขยายไลน์การผลิตใหม่ ๆ ให้กลุ่มลูกค้ารายเดิม หลังมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 204 ล้านเมตร/ปี
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 62 คาดว่าจะทรงตัวจากปีก่อนที่มีรายได้รวม 1.37 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 136.11 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อ โดยเฉพาะจากลูกค้า 4 รายใหญ่ ลดลง ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวมแล้วที่ 943.22 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 46.42 ล้านบาท
สำหรับกลยุทธ์ของบริษัทจากนี้มีเป้าหมายที่ต้องการเป็นผู้นำทางด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (Flexible Packaging) ทั้งในประเทศไทย และประเทศในกลุ่ม CLMV (เมียนมา, ลาว, เวียดนาม, กัมพูชา) โดยมีกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่สำคัญ คือการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Partnership) กับลูกค้าในระยะยาว พร้อมกับบริษัทยังร่วมกับลูกค้าในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อตอบสนองต่อโจทย์ความต้องการของลูกค้าและสถานการณ์ทางการตลาดได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) โดยการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้า
โดยที่บริษัทมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆที่สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาด Flexible Packaging ที่หันมาใช้วัตถุดิบรีไซเคิล และการใช้วัตถุดิบที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เพื่อให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งฝ่ายวิจัยและพัฒนาของบริษัทได้มีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาวัตถุดิบให้สามารถรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกให้สอดคล้องกับกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ส่วนเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้น IPO ทั้งสิ้น 426.80 ล้านบาท จะนำไปใช้ซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตฟิล์มประเภทที่ใช้ในการปิดผนึกขึ้นรูป (Sealant) ราว 140 ล้านบาท อีกทั้ง จะใช้ลงทุนสร้างคลังสินค้า 50 ล้านบาท และจะนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน 95 ล้านบาท เพื่อทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงเหลือระดับ 0.6 เท่า จากปัจจุบัน D/E อยู่ที่ 1.5 เท่า ส่วนที่เหลือจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจรองรับการเติบโตในอนาคต