เคทีบี (ประเทศไทย) ซื้อ 88.00 เอเซีย พลัส ซื้อ 85.00 ทิสโก้ ซื้อ 80.40 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ทยอยซื้อ 82.00 ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ ซื่อ 90.00
นายอำนาจ โงสว่าง ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ประเมินกำไรสุทธิของ AOT งวดปี 62/63 จะเติบโต 11% จากงวดปีก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสารที่คาดว่าจะเติบโต 4% โดยจะมาจากจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศเป็นหลัก ขณะที่รายได้ที่ไม่ใช่ธุรกิจการบิน (Non-Aero) ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมมากนักในปีนี้ แต่น่าจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญในปี 64 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ งวดปี 63/64 คาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด หรือจะเติบโตได้ราว 40% เนื่องจากจะมีการรับรู้รายได้ รายได้สัญญาใหม่ของร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) สุวรรณภูมิเข้ามา โดยประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 24,000 ล้านบาท จากปีนี้ที่คาดจะรับรู้รายได้ราว 8,000 ล้านบาท ประกอบกับ การก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (แซทเทิลไลท์) จะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 63 ทำให้จะสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารเพิ่มเป็น 60 ล้านคน จากปัจจุบันรองรับได้ราว 45 ล้านคน มองว่าเมื่อ capacity ขยายเพิ่มขึ้น ก็น่าจะส่งผลดีต่อจำนวนผู้โดยสารให้เติบโตมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงในเรื่องที่ AOT อาจต้องแบ่งรายได้ค่าบริการผู้โดยสารขาออก (PSC) ไม่เกิน 10% เข้ากองทุนหมุนเวียนของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอคณะกรรมการกฤษฏีกาตีความ โดยเบื้องต้นประเมินอาจกระทบกับราคาหุ้นไม่เกิน 5 บาท หรือราคาเป้าหมายจะลดลงมาอยู่ที่ 83 บาท/หุ้น จากที่ประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่ 88 บาท/หุ้น
ขณะเดียวกันก็ยังมีความเสี่ยงการเกิดค่าใช้จ่ายพิเศษ ในส่วนของการเรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานภูมิภาค ตั้งแต่ปี 60-75 เพิ่มเติม
นายสยาม ติยานนท์ นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ AOT ในไตรมาส 1 งวดปี 62/63 น่าจะเติบโตดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว โดยตัวเลข 2 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค.-พ.ย.62) เติบโต 10.7% หรือคิดเป็นจำนวน 14.19 ล้านคน จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตทำให้นักท่องเที่ยวชะลอตัวไป และเริ่มกลับมาดีขึ้นในปีนี้ ทำให้ทั้งปีคาดว่ากำไรสุทธิก็น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน และในงวดปีนี้จะไม่มีการบันทึกค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงานตามประกาศฉบับใหม่ของกฎหมายแรงงานรัฐวิสหกิจสัมพันธ์เหมือนปีที่ผ่านมา ที่ได้บันทึกค่าใช้จ่ายดังกล่าวทั้งสิ้น 730 ล้านบาท
นอกจากนี้ในต้นปี 63 ยังคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในเรื่องของการเซ็นสัญญาเช่าที่ดินกรมธนารักษ์ จากที่ AOT ได้มีการขอขยายเวลาเช่า จากเดิมสิ้นสุดปี 75 ออกไป 50 ปี และคาดว่าจะเห็นความชัดเจนการประกาศการเปลี่ยนสีผังเมืองจากสีเขียวเข้มมาเป็นสีน้ำเงิน (พื้นที่โซนราชการ) จากกรมผังเมืองเพื่อให้สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ในกิจการที่เกี่ยวเนื่องได้ในต้นปีหน้าเช่นกัน
ทั้งนี้ หากมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว มองว่า AOT น่าจะเริ่มผลักดันโครงการต่างๆ ออกมา โดยโครงการที่มีการเปิดเผยออกมาบ้างแล้ว ได้แก่ ศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (Certify Hub) ที่จะตั้งบริษัทร่วมทุนกับ บมจ.การบินไทย (THAI) หรือสมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย (TAFA) และร่วมทุนกับสายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ พัฒนาศูนย์ฝึกลูกเรือและพัฒนาบุคลากรส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน เป็นต้น ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อ AOT ในอนาคต
"งวดปี 62/63 คงไม่ได้มีอะไรมาก การเติบโตส่วนใหญ่มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ส่วนธุรกิจที่ไม่ใช่การบิน ก็น่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ในงวดปีหน้า ซึ่งจะมีการรับรู้รายได้ของ ดิวตี้ฟรี สุวรรณภูมิ เพิ่มขึ้น และยังมีแผนการหารายได้จากส่วนอื่น เช่น เมืองการบิน หรือ Airport City ทำให้สัดส่วนรายได้ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง"นายสยาม กล่าว
ด้านบล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ปัจจัยบวกต่อ AOT คือนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น รวมถึงรายได้จากสัมปทานเพิ่มขึ้นด้วย โดยล่าสุด คณะกรรมการของ AOT ได้อนุมัติให้ King Power ชนะการประมูลดิวตี้ฟรีของสนามบินดอนเมือง โดยได้สัมปทานประมาณ 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65-31 มี.ค.76 และการันตีรายได้ขั้นต่ำที่ 1.5 พันล้านบาท (ไม่รวมจุดรับสินค้า) และจะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ที่ 20%