CIMBT คาดปี 63 กำไรก่อนหักภาษีโต 20% หลังแนวโน้มสำรองฯลดลง-ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ,สินเชื่อโต 10%

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 26, 2019 15:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า แนวโน้มกำไรก่อนหักภาษีในปี 63 จะเติบโตขึ้น 20% จากปีนี้ที่ธนาคารคาดว่ากำไรก่อนหักภาษีจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.8 พันล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนที่ 271 ล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มการตั้งสำรองปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ปีนี้อย่างชัดเจนจากปี 61 ตั้งสำรองฯที่ 4.9 พันล้านบาท ลดลงมาเหลือกว่า 2 พันล้านบาทในปีนี้ หลังจากระดับหนี้เสียได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว

อีกทั้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาธนาคารได้ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ตามกลยุทธ์ Fast Forward ให้กระจายตัวไปในกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำลง จากการปรับสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อไปที่กลุ่มลูกค้ารายย่อยและรายใหญ่มากขึ้น จากเดิมที่มีกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีค่อนข้างมาก ทำให้ปัจจุบันธนาคารไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาของกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีเหมือนกับธนาคารขนาดใหญ่ในระบบ ทำให้ควบคุมสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ในระดับทรงตัวที่ 5% และตั้งเป้าลดลงต่ำกว่า 5% ในปี 63 จากการควบคุมคุณภาพหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ และการขายหนี้

"เราเจอปัญหามาก่อนหน้านี้แล้ว เหมือนเราเจ็บตัว เราก็ต้องเข้าโรงพยาบาลรักษาตัว ทำให้เราค่อย ๆ ดีขึ้นมา และเรามีการปรับตัวก่อนรายอื่น ทำให้ตอนนี้เราไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก และทำให้ผลการดำเนินงานของเราฟื้นตัวขึ้น"นายอดิศร กล่าว

นายอดิศร กล่าวอีกว่า ธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อรวมในปี 63 เติบโต 10% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงกับปีนี้ที่ 10% เช่นเดียวกัน โดยในปีหน้าธนาคารมองว่าสินเชื่อที่จะเข้ามาช่วยผลักดันการเติบโตมาจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะขยายตัวมากที่สุด 12-13% จากการลงทุนเอกชน โดยเฉพาะเอกชนรายใหญ่ที่ยังขยายการลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งธนาคารมีเครือข่ายอยู่หลายประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งได้นำจุดแข็งดังกล่าวมาช่วยลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ในการเข้าไปลงทุน และธนาคารจะเดินหน้าเป็น Go through bank for asean solution ให้กับลูกค้าที่ต้องการขยายไปในประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เช่น มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ธนาคารมีเครือข่ายแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐในปี 63 ที่จะทยอยออกมา ก็จะทำให้ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับอานิสงส์บวกไปด้วยในการด้านการลงทุนในประเทศ

ส่วนสินเชื่อรายย่อยตั้งเป้าเป้าโต 8% ซึ่งจะเป็นการเติบโตที่มาจากสินเชื่อส่วนบุคคล หลังจากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาธนาคารเห็นความต้องการใช้สินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขอสินเชื่อบุคคลผ่านช่องทางดิจิทัล พร้อมกันนี้ธนาคารจะพัฒนาโซลูชั่นที่ดึงดูดลูกค้าในการคิดอัตราดอกเบี้ยตามประวัติการชำระของลูกค้า ทำให้ลูกค้าที่มีประวัติการชำระที่ดีสามารถเข้าถึงการกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกลงกว่าปกติ ทำให้ธนาคารสามารถขยายฐานลูกค้ารายใหม่ ๆ ได้มากขึ้น และธนาคารเน้นการรุกปล่อยสินเชื่อผ่านดิจิทัลมากขึ้นซึ่งเพิ่มสัดส่วนจาก 14% เป็น 42% ในปีหน้า หรือคิดเป็นมูลค่า 3 พันล้านบาท ของสัดส่วนสินเชื่อรายย่อย

ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ยังคงเติบโตได้เรื่อย ๆ ตามการซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ แต่สินเชื่อบ้านอาจจะยังคงได้รับแรงกดดันจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว , มาตรการ LTV ขณะที่กำลังซื้อชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจ ทำให้สินเชื่อบ้านเติบโตในอัตราที่ช้าลงต่อเนื่องจากปีนี้ ซึ่งจะกดดันต่อการขยายตัวของสินเชื่อรายย่อยของธนาคารในปีหน้าเติบโตไม่ถึง 10% โดยคาดว่าการปล่อยสินเชื่อใหม่ของสินเชื่อรายย่อยจะอยู่ที่ 7-8 พันล้านบาท จากปีนี้ที่ 6 พันล้านบาท

นอกจากนี้ในปี 63 ธนาคารตั้งเป้าจะเป็นธนาคารที่สามารถทำธุรกรรมผ่าน Digital Platform ได้ 100% เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างตรงจุด ด้วย 3 แอพพลิเคชั่นหลัก คือ 1. CIMB THAI Digital Banking สำหรับทำธุรกรรมพื้นฐานโอนเงิน ชำระเงิน ซื้อขายกองทุน 2. Mobile Lending สำหรับปล่อยสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ผ่านมือถือ และ 3. Debt Consolidation การรวมหนี้เพื่อรีไฟแนนซ์ลดภาระดอกเบี้ยให้ถูกลง ซึ่งเป็น Digital Platform ที่สามารถทำงานได้รวดเร็วและง่าย รวมถึงการนำบริการที่เชื่อมโยงกับพันธมิตรที่เป็น Non-Bank เข้ามาเสริมบริการให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้หลากหลายมากขึ้น พร้อมตั้งเป้ามีผู้ใช้งาน Digital Platform ของธนาคารในปี 63 ไว้ที่ 500,000 ราย

ส่วนการพิจารณาจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นของธนาคารนั้น ธนาคารยังคงรอการพิจารณาความเหมาะสมจากคณะกรรมการธนาคารก่อน ซึ่งแนวโน้มผลการดำเนินงานปี 62 มีกำไรดีขึ้นมาต่อเนื่อง ทำให้มีโอกาสกลับมาจ่ายปันผลในงวดปีนี้ให้กับผู้ถือหุ้นได้ แต่ยังคงต้องรอดูว่าที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารจะพิจารณาความเหมาะสมในเรื่องดังกล่าวอย่างไร หลังจากที่ธนาคารงดการจ่ายเงินปันผลมาต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ