อีกแค่ไม่กี่วันจะก้าวเข้าสู่ปี 63 ซึ่งเป็นปีชวด (หนู) อย่างเป็นทางการ เชื่อว่ามีนักลงทุนหลายรายประสบความสำเร็จกับการลงทุนในปีกุน (หมู) ไม่มากก็น้อย แต่ก็คงมีนักลงทุนอีกจำนวนไม่น้อยที่พอร์ตเสียหายจากผลกระทบความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลก
แม้ว่าในปี 62 ราคาสินทรัพย์ทั่วโลกจะผันผวนอย่างรุนแรง สืบเนื่องจากผลกระทบปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่นอกเหนือการควบคุมทั้งในประเทศและนอกประเทศ แต่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET INDEX) ยังสามารถประคับประคองบวกเล็กน้อย อ้างอิงข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-25 ธ.ค.62 พบว่า SET INDEX ปิดที่ 1,573 จุด หรือ +0.58% และระหว่างทางเคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดรอบปีที่ 1,748.15 จุด เมื่อวันที่ 11 ก.ค.62 และปรับลดลงทำจุดต่ำสุดรอบปีที่ 1,543.22 จุด ณ วันที่ 17 ธ.ค.62
จากการรวบรวมข้อมูลของ"อินโฟเควสท์"จัดอันดับ 10 หุ้นเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯทั้งกระดาน SET และ mai ที่มีราคาเปลี่ยนแปลง "ลดลง" มากที่สุดในรอบปี 2562
*ส่อง 10 อันดับหุ้น "ร่วง"
อันดับ 10 TRC
บมจ.ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในงานวางระบบท่อ ,ติดตั้งระบบวิศวกรรมและก่อสร้างโรงงานในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และธุรกิจพัฒนาโครงการและการลงทุน
1 ม.ค.-25 ธ.ค.62
หุ้น TRC ลดลง -64.87%
ราคาสูงสุด 0.44 บาท
ราคาต่ำสุด 0.12 บาท
ปัจจัยลบ : โครงการเหมืองโปแตซที่เคยเป็นความหวังผลักดันผลประกอบการเติบโตก้าวกระโดดยังไร้ความคืบหน้า ปัจจุบัน TRC เป็นทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่ 25.13% และเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการ โดยในปี 61 TRC ตัดสินใจบันทึกด้อยค่าทางบัญชีครั้งเดียว ส่งผลให้งบการเงินขาดทุนถึง 2,041 ล้านบาท แม้ตลอดปี 62 จะคว้างานประมูลเข้ามาบ้าง แต่งวด 9 เดือนแรกของปี 62 ยังขาดทุน 109 ล้านบาท กระทบความเชื่อมั่นผู้ลงทุนลดลงมาต่อเนื่อง ปัจจุบันหุ้น TRC มีจำนวนผู้ถือหุ้น 10,241 ราย (อัพเดทข้อมูลวันที่ 1 เม.ย.62)
อันดับ 9 PE
บมจ.พรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์ ขึ้นเครื่องหมาย C,NP ประกอบธุรกิจรถเช่าเพื่อการดำเนินงาน ,นายหน้าประกันวินาศภัย ,สินเชื่อเพื่อธุรกิจและจัดการสินเชื่อ
1 ม.ค.-25 ธ.ค.62
หุ้น PE ลดลง -65.00%
ราคาสูงสุด 0.28 บาท
ราคาต่ำสุด 0.04 บาท
ปัจจัยลบ : แม้ว่าผลประกอบการปี 61 จะมีกำไรสุทธิ 41 ล้านบาท และงวด 9 เดือนแรกปี 62 มีกำไรสุทธิ 17 ล้านบาท พลิกจากที่เคยขาดทุนมาหลายปีติดต่อกัน แต่บริษัทมีขาดทุนสะสมเกือบ 280 ล้านบาท และยังถูกขึ้นเครื่องหมาย C,NP เตือนผู้ลงทุน เป็นที่น่าติดตามว่าในปี 63 แผนฟื้นกิจการจะทำให้สามารถปลดเครื่องหมาย C,NP ได้หรือไม่ ปัจจุบัน PE มีผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 คือนายทวีฉัตร จุฬางกูร นักลงทุนและนักธุรกิจชื่อดัง ถือครองหุ้น 24.50% ล่าสุดหุ้น PE มีจำนวนผู้ถือหุ้น 2,659 ราย (อัพเดทข้อมูลวันที่ 4 มี.ค.62)
อันดับ 8 UMS
บมจ.ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส ขึ้นเครื่องหมาย C ประกอบธุรกิจนำเข้าถ่านหิน เพื่อจัดจำหน่ายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก
1 ม.ค.-25 ธ.ค.62
หุ้น UMS ลดลง -65.22%
ราคาสูงสุด 0.69 บาท
ราคาต่ำสุด 0.24 บาท
ปัจจัยลบ : เป็นบริษัทที่มีผลประกอบการขาดทุนติดต่อกันมาหลายปี งวด 9 เดือนแรกของปี 62 ขาดทุนสุทธิ 32 ล้านบาท และมีขาดทุนสะสมกว่า 740 ล้านบาท ปัจจุบันหุ้น UMS มีสภาพคล่องหุ้นหมุนเวียนในตลาดหุ้นต่ำ มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free float) เพียง 6.14% เท่านั้น คิดเป็นจำนวนรายย่อยถือหุ้นทั้งหมด 1,389 ราย โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 อันดับ ได้แก่ บริษัท อะธีน โฮลดิ้งส์ จำกัด ถือหุ้นสัดส่วน 92.93% และนายประยุทธ มหากิจศิริ 0.93%
อันดับ 7 TFI
บมจ.ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ ขึ้นเครื่องหมาย C,NP ธุรกิจผลิตฟิล์มประเภทบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก
1 ม.ค.-25 ธ.ค.62
หุ้น TFI ลดลง -66.67%
ราคาสูงสุด 0.36 บาท
ราคาต่ำสุด 0.06 บาท
ปัจจัยลบ : เป็นหุ้นถูกติดเครื่องหมาย C,NP มีกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ "มหากิจศิริ" ผลประกอบการขาดทุนสุทธิมาตั้งแต่ปี59 มีขาดทุนสะสมเกือบ 2,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นรายย่อย 2,179 ราย (อัพเดทข้อมูลวันที่ 06 มี.ค.62)
ทั้งนี้ ล่าสุดบริษัทรายงานผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯว่า มีแผนเจรจากับเจ้าหนี้ธนาคารแห่งหนึ่ง โดยธนาคารกำหนดว่าการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ควรแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.62 ปัจจุบันการปรึกษาและเจรจากับธนาคารยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายมีการปรับปรุงเงื่อนไข เป็นผลให้การปรับโครงสร้างหนี้ยังไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาดังกล่าว บริษัทและธนาคารจะร่วมปรึกษาและเจรจากันต่อไป เพื่อให้สามารถนำเสนอคณะกรรมการธนาคาร และคณะกรรมการบริษัทพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/63
อันดับ 6 OCEAN
บมจ.โอเชี่ยน คอมเมิรช ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และน้ำมันปาล์มดิบ (ปิดกิจการธุรกิจซื้อขายผลิตภัณฑ์ก๊อกน้ำ-อุปกรณ์ประปาตั้งแต่ 1 พ.ย.62)
1 ม.ค.-25 ธ.ค.62
หุ้น OCEAN ลดลง -67.50%
ราคาสูงสุด 4.94 บาท
ราคาต่ำสุด 1.06 บาท
ปัจจัยลบ : บริษัทเพิ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ พร้อมกับเปลี่ยนธุรกิจมาเป็นอสังหาริมทรัพย์และน้ำมันปาล์มดิบ ก่อนจะยุติธุรกิจเดิมซื้อขายผลิตภัณฑ์ก๊อกน้ำ-อุปกรณ์ประปาตั้งแต่ 1 พ.ย.62 แม้ว่าผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกปี62 จะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ 35 ล้านบาท จากปี 61 ขาดทุนสุทธิ 146 ล้านบาท แต่บริษัทมีขาดทุนสะสมราว 140 ล้านบาท ปัจจุบันมีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยถือครอง 3,168 ราย (อัพเดทข้อมูลวันที่ 14 มี.ค.62)
อันดับ 5 CPL
บมจ.ซีพีแอล กรุ๊ป ประกอบธุรกิจโรงงานฟอกหนังครบวงจร ผลิตภัณฑ์หลัก คือ หนังวัวฟอกสำเร็จรูป และหนังท้อง (cow split suede leather) ประเภทของหนังวัวฟอกสำเร็จรูป ได้แก่ aniline leather, pigmented leather, oiled leather และ waterproof leather เป็นต้น ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตรองเท้ายี่ห้อดัง ๆ เช่น adidas, Timberland, Marks & Spencer และ Rockport เป็นต้น
1 ม.ค.-25 ธ.ค.62
หุ้น CPL ลดลง -70.00%
ราคาสูงสุด 3.36 บาท
ราคาต่ำสุด 0.81 บาท
ปัจจัยลบ : ผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกปีนี้กลับมาพลิกขาดทุน 64 ล้านบาท จากปีก่อนกำไรสุทธิ 12 ล้านบาท แม้ว่าฐานะการเงินจะไม่ถึงขั้นย่ำแย่ เพราะยังมีกำไรสะสม แต่ด้วยลักษณะของหุ้น CPL ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากนัก ทำให้สภาพคล่องหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ การแข่งขันธุรกิจโรงงานฟอกหนังมีมากขึ้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลก คงต้องติดตามว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญอย่างไรกับแนวโน้มผลประกอบการของ CPL ในอนาคต
อันดับ 4 BEAUTY
บมจ.บิวตี้ คอมมูนิตี้ ประกอบธุรกิจปลีกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและบำรุงผิว ภายใต้แบรนด์ BEAUTY BUFFET, BEAUTY COTTAGE, BEAUTY MARKET, MADE IN NATURE, และ BEAUTY PLAZA
1 ม.ค.-25 ธ.ค.62
หุ้น BEAUTY ลดลง -74.05%
ราคาสูงสุด 8.35 บาท
ราคาต่ำสุด 1.70 บาท
ปัจจัยลบ : เป็นที่ทราบกันว่าราคาหุ้น BEAUTY ในอดีตเคยเทรดกันบน P/E สูงกว่า 50 เท่า แต่เนื่องด้วยความสามารถทำกำไรของบริษัทเติบโตชะลอตัวลงจากปี 60 มีกำไรสุทธิ 1,229 ล้านบาท ล่าสุดงวด 9 เดือนแรกปี 62 มีกำไรสุทธิ 167 ล้านบาท เป็นผลกระทบกับความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนที่เคยคาดหวังเห็นกำไรเติบโตก้าวกระโดดหดหายไป เป็นตัวแปรให้หุ้น BEAUTY ในวันนี้ลดระดับมาเทรดบน P/E ต่ำกว่าในอดีตอย่างมาก
อันดับ 3 HYDRO
บมจ.ไฮโดรเท็ค ขึ้นเครื่องหมาย C ประกอบธุรกิจรับก่อสร้างและรับบริหารจัดการงานวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1. ระบบผลิตน้ำ ได้แก่ ระบบผลิตน้ำประปา ระบบผลิตน้ำบริสุทธิ์ หรือผลิตน้ำปราศจากแร่ธาตุ ระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ระบบผลิตน้ำแบบเคลื่อนย้าย 2. ระบบบำบัดน้ำเสีย ได้แก่ ระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อให้ได้มาตรฐาน 3. ระบบกำจัดขยะ 4. การแปรรูปวัสดุเหลือใช้ให้เป็นพลังงานทดแทน
1 ม.ค.-25 ธ.ค.62
หุ้น HYDRO ลดลง -74.60%
ราคาสูงสุด 1.30 บาท
ราคาต่ำสุด 0.24 บาท
ปัจจัยลบ : เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ที่มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิต่อเนื่องมาหลายปี ล่าสุดงวด 9 เดือนแรกของปีนี้มีขาดทุนสุทธิ 203 ล้านบาท และมีขาดทุนสะสมกว่า 800 ล้านบาท สำหรับแนวทางฟื้นฟูธุรกิจ ล่าสุดกำหนดกลยุทธ์เพิ่มรายได้ ประกอบด้วย 1.หาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ 2.เพิ่มแหล่งรายได้ที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีและมั่นคงในระยะยาว เช่น งานสัมปทานประปา เป็นต้น 3. เน้นการหางานบำบัดน้ำเสียและโรงผลิตน้ำประปา เพื่อทำรายได้ระยะสั้นเข้าบริษัท
และแนวทางการควบคุมค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย 1. บริษัทมีแผนในการบริหารต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆให้เกิดประสิทธิภาพ โดยลดต้นทุนคงที่ที่ไม่จำเป็นออก 2. บริษัทมีแผนการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารโครงการเพื่อทำให้ต้นทุนโครงการลดลงและได้รับกำไรเร็ว
อันดับ 2 PPPM
บมจ.พีพี ไพร์ม ขึ้นเครื่องหมาย NP ประกอบธุรกิจจำหน่ายและผลิตอาหารสัตว์น้ำและสัตว์เลี้ยง โดยแบ่งเป็น สายการผลิตอาหารกุ้ง (Shrimp Feed) สายการผลิตอาหารปลา (Fish Feed) และอาหารสัตว์เลี้ยง (PET Food) และพลังงานทดแทน
1 ม.ค.-25 ธ.ค.62
หุ้น PPPM ลดลง -80.04%
ราคาสูงสุด 3.38 บาท
ราคาต่ำสุด 0.53 บาท
ปัจจัยลบ : เป็นกระแสโด่งดังในวงการตลาดทุน เกี่ยวกับปัญหาผิดนัดชำระหุ้นกู้กับธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะนายทะเบียนหุ้นกู้ แม้ว่าจะสามารถผ่านพ้นไปได้ล็อตแรก แต่ความเชื่อมั่นนักลงทุนหดหายไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับแผนการชำระหุ้นกู้ PPPM วันนี้บริษัทมีกำหนดต้องชำระเงินให้กับผู้ถือหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอนอีกจำนวน 3 รุ่น ประกอบด้วย รอบแรกคือหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2561 (TLUXE205A) จำนวน 200 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 8 พ.ค.63 , รอบถัดไปคือหุ้นกู้ครั้งที่ 2/2561 รุ่น TLUXE198A จำนวน 319.50 ล้านบาท ที่เลื่อนชำระออกไปเป็นวันที่ 2 ก.ค.63 และรอบสุดท้ายเป็นหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2562 (PPPM213A) จำนวน 207.60 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 18 มี.ค.64
อันดับ 1 PACE
บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น ขึ้นเครื่องหมาย C,NP ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับไฮเอนด์ และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้บริษัท ดีน แอนด์ เดลูก้า เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด
1 ม.ค.-25 ธ.ค.62
หุ้น PACE ลดลง -80.56%
ราคาสูงสุด 0.41 บาท
ราคาต่ำสุด 0.02 บาท
ปัจจัยลบ : เป็นข่าวใหญ่จากกรณีผิดนัดชำระหนี้ของ PACE กับธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งตลอดหลายปีบริษัทมีขาดทุนสุทธิมาต่อเนื่อง แต่จากการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการ ทำให้บริษัทมีมูลค่าหนี้จำนวนมาก ณ 30 ก.ย.62 บริษัทมีหนี้สินรวม 20,098 ล้านบาท ขณะที่บริษัทมีสินทรัพย์รวม 20,360 ล้านบาท กลายเป็นว่าแผนการปรับโครงสร้างหนี้ของ PACE ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก แต่ราคาหุ้น PACE วันนี้ ถือเป็นสิ่งสะท้อนอย่างดีถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อการดำเนินธุรกิจและแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงที่ผ่านมา
**เครื่องหมาย NP (Notice Pending)บริษัทจดทะเบียนมีข้อมูลที่ต้องรายงานและตลาดหลักทรัพย์อยู่ระหว่างรอข้อมูลจากบริษัท
https://youtu.be/eNwaz9afCM0