นายพงษ์พันธ์ อภิญญากุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า กว่าที่มาตรการภาษีที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติออกมาในวันนี้จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจคงต้องใช้เวลาเป็นปี หรืออย่างน้อย 6-12 เดือน แต่ก็ถือว่าเป็นแพ็กเกจที่ค่อนข้างดี ไม่เน้นการให้เงินฟรี แต่เน้นที่กลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
"ไม่ได้มองแย่ และมาตรการภาษีอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้าง OK อยู่ใน International standard ไม่เหมือนกับการแถม แจก ยิ่งถ้าเป็นบ้านหลังแรกยิ่งดี"นายพงษ์พันธ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นรับรู้เรื่องมาตรการต่าง ๆ ไปมากแล้ว และขณะนี้ตลาดคงมองความเสี่ยงด้านอื่น เช่น อัตราเงินเฟ้อ การเมือง และที่สำคัญเรื่องของเศรษฐกิจสหรัฐ
นายเอกพิทยา เอี่ยมคงเอก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล.บีฟิท ระบุว่า มาตรการภาษีที่รัฐบาลประกาศออกมาวันนี้ มุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นการบริโภคในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากเป็นการเพิ่มอำนาจการใช้จ่ายให้กับประชาชน แต่จุดสำคัญก็คือจะต้องสร้างความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายควบคู่ไปด้วย จึงจะเกิด consumption ที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม
"การจะให้เขาจ่ายก็ต้องทำให้เขามั่นใจว่าเมื่อจ่ายไปแล้ว เศรษฐกิจมีการเติบโต หรือจ่ายแล้วยังไม่ตกงาน เพราะถ้าเขาจ่ายแล้วตกงานทำยังไงเขาก็ไม่จ่าย เพราะฉะนั้นนี่เป็นแค่ขั้นแรกในการเพิ่มอำนาจการซื้อให้กับประชาชน"นายเอกพิทยา กล่าว
นายเอกพิทยา มองว่าบางมาตรการที่ออกมาในวันนี้ ไม่น่าจะมีประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน ตัวอย่างอย่างการลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ เพราะผู้ที่ได้ประโยชน์คือบริษัทที่ทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้มีผลโดยตรงต่อประชาชนที่เป็นผู้ตัดสินใจซื้อ ซึ่งหากจะให้ได้ผลไปที่ผู้ซื้อโดยตรง น่าจะเป็นมาตรการเพิ่มค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านมากกว่า
"การลดหย่อนค่าโอนฯนั้นจะเป็นการเร่งให้คนโอนบ้านมากขึ้น คนที่ได้ประโยชน์คือบริษัทอสังหาฯ แต่ถ้าบอกว่าตอนนี้ใครขอสินเชื่อลดหย่อนดอกเบี้ยวงเงิน 1 แสน ถ้าเพิ่มเป็น 5 แสน คนก็จะเร่งซื้อบ้านมากขึ้น นี่คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ มันก็ต้องดูแต่ละมาตรการ โดยรวมก็เป็นบวก เพียงแต่ว่าบางอันโดน บางอันก็ไม่โดน"นายเอกพิทยา กล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามาตรการดังกล่าวลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ช่วยกระตุ้นให้สนับสนุนให้มีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวเร็วขึ้น
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย กล่าวว่า มาตรการที่โดนใจมากที่สุด เป็นการเพิ่มวงเงินค่าลดหย่อนจากการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนหุ้นระยะยาว(LTF) และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ( RMF) จาก 3 แสนบาท เป็น 5 แสนบาท ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้มีการลงทุนในระยะยาวมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่วนมาตรการอื่น ๆ เป็นมาตรการที่มีผลในระยะสั้น
ด้านนางวิริยา ลาภพรหมรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เกียรตินาคิน กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาในวันนี้ถือเป็นสิ่งที่ดีและเป็นข่าวดีของตลาดฯ แต่ตลาดฯได้รับรู้เกี่ยวกับมาตรการนี้มาแล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งจะเห็นได้จากเมื่อวานนี้(3 มี.ค.)มีแรงซื้อเข้ามาพยุงตลาดหุ้นไทยให้ทรงตัวได้ดีกว่าตลาดหุ้นประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค
ส่วนหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก็ได้มีการเข้ามาเล่นเก็งกำไรกันล่วงหน้าแล้ว โดยอิงประเด็นรับผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จากนี้ไปคงจะต้องคอยติดตามผลของการนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาใช้
นางวิริยา มองว่า มาตรการที่น่าจะมีผลกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนได้มาก คือ การเพิ่มวงเงินของผู้ที่มีเงินได้ที่รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็น 1.5 แสนบาท จากเดิม 1 แสนบาท ส่วนการลดภาษีธุรกิจเฉพาะและค่าธรรมเนียมการโอน จะช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้เป็นอย่างดี และอาจทำให้ธนาคารอนุมัติวงเงินสินเชื่อได้มากขึ้นด้วย
สำหรับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทจดทะเบียนรายเดิมในตลาดหลักทรัพย์(SET) และ ตลาดหลักทรัพย์ mai
ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนที่มีกำไรคาบเกี่ยว 200-300 ล้านบาทมีอยู่มากในตลาด SET ซึ่งก็คิดว่าจะได้รับประโยชน์จากตรงนี้ แต่อย่างไรก็ดีบริษัทฯที่จะมีการเติบโตที่ดีก็ควรจะต้องพยายามทำให้กำไรขยับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ
ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ เชื่อว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะยังส่งผลบวกต่อตลาดฯในระยะ 1-2 วันนี้ ทำให้ระยะสั้นตลาดฯสามารถทรงตัวอยู่ในระดับที่ดีกว่าตลาดอื่นในภูมิภาค แต่ตลาดฯยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินบาท และเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อ่อนตัวลง
นายวรุฒน์ ศิวะศริยานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า มาตรการภาษีโดยรวมจะช่วยกระตุ้นในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม และลงไปถึง SME ได้ประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลุ่มที่เห็นชัดเจนคือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ประชาชนโดยรวมเมื่อมีเงิน การจับจ่ายใช้สอยก็จะขยับดีขึ้น ทางด้านส่งออกก็จะมีมาตการให้เงินกู้ต่างๆ ไปปรับปรุง ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจก็คงจะดีขึ้น
--อินโฟเควสท์ โดย พรเพ็ญ ดวงเฉลิมวงศ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--