"พีทีที แอลเอ็นจี" ปรับปรุงท่าเรือมาบตาพุด-พื้นที่บรรจุ LNG รองรับแผนไทยเป็นฮับในภูมิภาค

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 2, 2020 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโชคชัย ธนเมธี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) ในกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับปรุงท่าเทียบเรือมาบตาพุดและพื้นที่บรรจุก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขาย LNG ของภูมิภาค (Regional LNG Hub) โดยการปรับปรุงสาธารณูปโภคครั้งนี้เพื่อให้สามารถขนส่ง LNG ทั้งทางรถยนต์และทางเรือ รองรับลูกค้าที่มาใช้บริการเพื่อบรรจุ LNG หรือ Reload ทั้งการนำเข้า LNG แล้วจำหน่ายต่อแก่ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ ตามแผนของกระทรวงพลังงานจะเริ่มทดสอบระบบดังกล่าวในช่วงไตรมาส 1/63 เช่น ระบบบริการขนถ่าย LNG (Reload System) ให้บริการเติม LNG แก่เรือที่ใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงในการเดินเรือ (Bunkering)

สำหรับท่าเทียบเรือและสถานีรับ-จ่าย Map Ta Phut LNG Terminal สามารถรับเรือขนส่ง LNG ขนาด 125,000-284,000 ลูกบาศก์เมตร การปรับปรุงเพื่อ Reload ก็จะทำให้ขนส่งทางเรือเล็ก 60,000 ลูกบาศก์เมตร และขนส่งทางรถยนต์ 20,000 ลูกบาศก์เมตร โดยสถานีแห่งนี้มีความสามารถแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซฯ 11.5 ล้านตัน/ปี หรือเทียบเท่าก๊าซฯ 1,610 ลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยผู้ใช้บริการรายแรก คือ ปตท. ซึ่งมีสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวแล้ว 5.2 ล้านตัน/ปี และรายที่ 2 คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีการนำเข้า LNG ในสัญญาตลาดจร (SPOT) ลำแรก 65,000 ตัน และลำที่ 2 จะนำเข้าเดือน เม.ย.อีก 65,000 ตัน

นายโชคชัย กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างท่าเทียบเรือและสถานีรับ-จ่าย LNG แห่งที่ 2 สถานีหนองแฟบ ที่ใช้เงินลงทุนรวม 3.85 หมื่นล้านบาทนั้น ขณะนี้มีความคืบหน้าแล้ว 40% ซึ่งจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการตามแผนกลางปี 65 โดยมีความสามารถแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซฯ 7.5 ล้านตัน/ปี หรือเทียบเท่าก๊าซธรรมชาติ 1,050 ลูกบาศก์ฟุต/วัน

ปัจจุบันไทยมีความต้องการใช้ก๊าซฯราว 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยส่วนใหญ่ราว 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน มาจากอ่าวไทย ส่วนอีก 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน มาจากเมียนมา และการนำเข้า LNG ขณะที่ก๊าซฯจากเมียนมาและอ่าวไทยจะทยอยลดลง ทำให้ไทยจึงจำเป็นต้องนำเข้า LNG เพิ่มขึ้น โดยเป้าหมายแรกคือการใช้เองในประเทศ และกำลังวางแผนเป็น Regional LNG Hub ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ LNG เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพิ่มการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิม ศุ้วคาดจะเกิดผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของไทยโดยรวมประมาณ 165,000 ล้านบาทในช่วง 10 ปี (ปี 63-73)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ