โบรกฯเชียร์"ซื้อ"BANPU มองซื้อแหล่งก๊าซฯใหญ่ในสหรัฐไม่แพง-สร้างกระแสเงินสดสม่ำเสมอลดความผันผวนถ่านหิน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 6, 2020 14:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.บ้านปู (BANPU) หลังเพิ่มพอร์ตลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ด้วยการประกาศเข้าซื้อแหล่งก๊าซฯขนาดใหญ่ในสหรัฐ ด้วยมูลค่า 770 ล้านเหรียญสหรัฐ นับว่าไม่แพง และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/63 ซึ่งจะช่วยสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอ ช่วยลดความผันผวนจากธุรกิจถ่านหิน เบื้องต้นประเมินจะสร้าง EBITDA ให้กับ BANPU ได้ปีละ 100-150 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ดีลนี้ไม่ได้เพิ่มกำไรให้กับ BANPU มากนักในระยะสั้นด้วยราคาก๊าซฯที่ยังอ่อนแอ ส่วนระยะยาวคาดว่าความต้องการก๊าซฯจะเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามโบรกเกอร์ ยังไม่ได้ประเมินผลประกอบการและมูลค่าที่เหมาะสมจากการเข้าลงทุนในครั้งนี้ โดยยังต้องรอการซื้อขายเสร็จสิ้นก่อน แต่เบื้องต้นผลประกอบการของ BANPU ยังคงถูกกดดันจากธุรกิจถ่านหินที่อ่อนแอ ตามแนวโน้มราคาถ่านหินที่ลดลง และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

ราคาหุ้น BANPU อยู่ที่ 11.70 บาท ลดลง 0.50 บาท (-4.10%) ขณะที่ SET -0.968%

          โบรกเกอร์                    คำแนะนำ                   ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          ธนชาต                         ซื้อ                            16.00
          ฟิลลิป (ประเทศไทย)              ซื้อ                            14.00
          หยวนต้า (ประเทศไทย)          ซื้อเก็งกำไร                       12.50
          เอเซีย พลัส                     ซื้อ                            14.00
          ยูโอบี เคย์เฮียนฯ                 ซื้อ                            14.60
          เอเชีย เวลท์                    ซื้อ                            14.50

นางสาวนลินรัตน์ กิตติกำพลรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.เอเชีย พลัส กล่าวว่า การที่ BANPU จะเข้าซื้อแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ (Barnett) ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซฯขนาดใหญ่ที่ดำเนินการอยู่แล้วในสหรัฐอเมริกา นับว่าสอดคล้องกับกลยุทธ์ที่จะพยายามเพิ่มสัดส่วนกำไรในธุรกิจก๊าซฯเพิ่มขึ้นเป็น 15% จากปัจจุบันที่อยู่ต่ำกว่า 10% แต่ด้วยราคาขายก๊าซฯ ในตลาด Henry Hub ที่ยังต่ำ ทำให้กำไรอาจยังไม่หวือหวาในระยะแรก ประเมินเบื้องต้นคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการเข้าลงทุนในแหล่งก๊าซฯแห่งใหม่นี้จะอยู่ที่ราว 100-150 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี

"ราคาก๊าซฯ Henrry Hub ปัจจุบันอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ทำให้กำไรที่จะได้จากการลงทุนไม่ใช่ประเด็นหลักในการเข้าซื้อ กิจการในครั้งนี้ของ BANPU แต่อยากให้มองภาพยาวที่เป็นการลงทุนที่สอดรับกับกลยุทธ์ของ BANPU ที่จะเพิ่มสัดส่วนธุรกิจ Non-coal เพิ่มขึ้น และยังมองเป็นการสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอในระยะยาว และหากราคา Henry Hub ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต จะยิ่งเป็นupside ที่จะเข้ามาผลักดันการเติบโตของกำไร ก็เป็นโอกาสที่ดีสำหรับ BANPU ที่จะเข้าสู่ธุรกิจก๊าซฯในสหรัฐอย่างเต็มตัว"นางสาวนลินรัตน์ กล่าว

นางสาวนลินรัตน์ กล่าวว่า BANPU จะเข้าซื้อแหล่งก๊าซฯบาร์เนตต์ และเป็นผู้ดำเนินการผลิต ด้วยเงินลงทุน 770 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2.3 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/63 ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตก๊าซฯ ในสหรัฐที่ BANPU มีอยู่ราว 200 ล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟ.)/วัน จากแหล่ง Marcellus shale รัฐเพนซิลเวเนีย เพิ่มขึ้นเป็น 700 ล้านลบ.ฟุต/วัน รวมถึงจะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซฯที่พิสูจน์แล้ว (1P) เป็น 4.2 ล้านล้านลบ.ฟุต จากปัจจุบันที่อยู่ราว 1.2 ล้านล้านลบ.ฟุต

ขณะที่ในด้านแหล่งเงินลงทุนจะมาจากการกู้ยืมเงิน ซึ่งจะทำให้หนี้สินสุทธิต่อส่วนผู้ถือหุ้น (Net Debt/Equity) เพิ่มขึ้นเป็น 1.4 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.1 เท่า แต่ก็ช่วยผลักดันการเพิ่มสัดส่วนกำไรจากธุรกิจก๊าซฯ ขณะเดียวกันก็จะทำให้สัดส่วนกำไรจากธุรกิจถ่านหินที่ยังมีความผันผวนให้ลดลงเช่นกัน

บล.เอเชีย เวลท์ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า การเข้าซื้อกิจการแหล่งก๊าซฯแห่งใหม่ของ BANPU ในช่วงเวลานี้ ถือว่าเหมาะสม แม้ว่าราคาก๊าซฯ Henry Hub จะปรับลดลงจากปัญหา Over supply ในสหรัฐก็ตาม โดยยังมีมุมมองเป็นบวกในระยะยาวต่อ BANPU จากการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปสู่ธุรกิจก๊าซฯ ลดสัดส่วนการรับรู้รายได้จากธุรกิจถ่านหินที่มีความผันผวนสูง

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นการยากต่อการประเมินผลประกอบการ และมูลค่าเหมาะสมที่จะเพิ่มขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว แต่เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเพิ่ม EBITDA ให้กับ BANPU ได้ปีละ 100-150 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันการดำเนินงานยังต้องมีการลงทุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะการขุดสำรวจหลุมผลิตเพิ่มปีละ 15-20 หลุมผลิต คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 6-7 ล้านเหรียญสหรัฐ/หลุมผลิต เพื่อที่จะรักษาระดับการผลิตไว้ที่ 500 ล้านลบ.ฟ./วัน

ด้านบทวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า การที่ BANPU จะเข้าซื้อสัดส่วนลงทุน 89% ในแหล่งก๊าซฯบาร์เนตต์ ซึ่งเป็นแหล่งที่ดำเนินการผลิตมาแล้ว 20 ปี ทำให้จะสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันที อ้างอิงจากปริมาณสำรองก๊าซฯที่พิสูจน์แล้ว ที่ 3.5 ล้านล้านลบ.ฟ. ภายใต้การผลิตที่ 600 ล้านลบ.ฟ./วัน สะท้อนว่า BANPU จะสามารถรักษาการผลิตระดับนี้ได้อย่างน้อยอีก 15 ปี และเพื่อรักษาระดับการผลิตดังกล่าว จะต้องเจาะหลุมสำรวจเพิ่มเติมราว 20 แห่ง/ปี โดยมีค่าใช้จ่ายราว 7 ล้านเหรียญสหรัฐ/หลุม อย่างไรก็ตาม ราคาที่ BANPU เข้าซื้อกิจการคิดเป็นอัตราส่วน EV/1P reserve ที่ 0.2 เหรียญสหรัฐ/พันล้านลบ.ฟ. (BCF) ถือว่าไม่แพง และต่ำกว่าการเข้าซื้อแหล่งก๊าซครั้งที่ผ่าน ๆ มาที่เฉลี่ย 0.4-0.6 เหรียญสหรัฐ/BCF

นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ ที่ BANPU ลงทุนในธุรกิจก๊าซฯ 520 ล้านเหรียญสหรัฐ มีกำลังผลิตก๊าซฯ 200 ล้านลบ.ฟ./วัน ปริมาณสำรองก๊าซฯที่พิสูจน์แล้ว 1.1 ล้านล้านลบ.ฟ. ขณะที่ภายหลังการลงทุนครั้งนี้ BANPU จะมีการลงทุนในธุรกิจก๊าซฯรวม 1,290 ล้านเหรียญสหรัฐ กำลังผลิตก๊าซฯเพิ่มเป็น 800 ล้านลบ.ฟ./วัน ปริมาณสำรองก๊าซฯที่พิสูจน์แล้วเพิ่มเป็น 4.2 ล้านล้านลบ.ฟ. หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า

"เราคาดดีลครั้งนี้จะไม่ได้เพิ่มกำไรให้ BANPU มากนักในระยะสั้น เนื่องจากราคาก๊าซฯยังอ่อนแอ และถูกหักล้างด้วยต้นทุนเงินกู้ แต่เรามีมุมมองบวกต่อการลงทุนครั้งนี้ในระยะยาว เพราะเป็นการขยายสู่แหล่งผลิตก๊าซทางใต้ของสหรัฐฯ ครั้งแรกของ BANPU ซึ่งด้วยขนาด และภูมิศาสตร์ ทำให้มีศักยภาพขยายสู่ตลาดส่งออกในอนาคต และ BANPU ยังเป็น Operating asset ทำให้มีความเสี่ยงด้านการสำรวจทรัพยากรต่ำ และสามารถรับรู้กระแสเงินสดได้ทันที อีกทั้งยังสอดคล้องกับกลยุทธ์การดำเนินงานที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนธุรกิจที่ไม่ใช่ถ่านหิน"หยวนต้าฯ ระบุ

หยวนต้าฯ ระบุอีกว่า แม้ปัจจุบันราคาก๊าซฯยังอ่อนแอ หลังจากได้รับแรงกดดันจากอุปทานในตลาดที่อยู่ระดับสูง โดยปริมาณสต็อกอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี อย่างไรก็ตามระยะยาวความต้องการใช้ก๊าซฯจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาด ทำให้มองว่า ณ ปัจจุบันอาจเป็นจุดเข้าลงทุนที่เหมาะสม และราคาที่ BANPU เข้าซื้อถือว่าไม่แพง อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้รวมการเข้าซื้อโครงการนี้ไว้ในประมาณการ โดยยังรอความชัดเจนของรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อทำประมาณการต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ