นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน ม.ค.63 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน นักลงทุนคาดหวังการดำเนินนโยบายภาครัฐและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ขณะที่ก็มีความกังวลต่อความขัดแย้งระหว่างประเทศ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงสถานการณ์ทางการเมือง
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนม.ค.63 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มี.ค.63) อยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว" (Neural) (ช่วงค่าดัชนี 80 - 119) โดยลดลง 8.17% มาอยู่ที่ระดับ 80.75
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ลดลงมาอยู่ใน Zone ซบเซา (Bearish)
ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศลดลงมาอยู่ใน Zone ซบเซา (Bearish)
ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนรายบุคคลเพิ่มขึ้นอยู่ใน Zone ซบเซา (Bearish)
สำหรับหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดการแพทย์ (HELTH) ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK)
ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ นโยบายภาครัฐ และปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
"ผลสำรวจ ณ เดือนธ.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวลดลงอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศลดลงมาอยู่ที่เกณฑ์ซบเซาจากเกณฑ์ทรงตัวในเดือนก่อน กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศไม่เปลี่ยนแปลงโดยอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัวเช่นเดิม ขณะที่กลุ่มบัญชีนักลงทุนรายบุคคลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ในเกณฑ์ซบเซาเช่นเดิม"FETCO ระบุ
ในช่วงเดือน ธ.ค.62 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เคลื่อนไหวในช่วง 1,548-1,579 จุด โดยดัชนีปรับตัวลดลงในครึ่งเดือนแรกมาอยู่จุดต่ำสุดที่ 1,548 จุด จากนั้นทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่บริเวณ 1,570-1,580 ในช่วงปลายเดือน โดยได้รับผลดีจากผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนในข้อตกลงการค้าขั้นที่ 1 ที่เป็นไปได้ด้วยดี ขณะที่นักลงทุนคาดหวังแรงซื้อ LTF ในช่วงปลายปี แม้ว่าตัวเลขการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยยังมีการเติบโตชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
โดยทิศทางการลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด คือ ความคาดหวังนโยบายภาครัฐ รองลงมาคือผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ขณะที่นักลงทุนยังกังวลความขัดแย้งระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และสถานการณ์ทางการเมือง
สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตาม ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจจากผลเจรจาทางการค้าภายหลังข้อตกลงทางการค้าขั้น 1 เป็นไปด้วยดีและแนวโน้มการเจรจาข้อตกลงทางการค้าในขั้นที่ 2 ทิศทางของ BREXIT ที่มีแนวโน้มให้อังกฤษออกจาก EU แบบได้ข้อตกลงทันเส้นตายภายหลังการเลือกตั้ง ทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐและอียูที่แนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยในปี 63
ขณะที่ปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม คือ การเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาลปี 63 นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาการส่งออกจากค่าเงินบาทแข็งค่าที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และนโยบายทางการเงินของธปท. ในปี 63
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธาน FETCO เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงต่ำที่สุดในรอบ 3 ปีและยังทรงตัวต่อเนื่อง ด้วย Sentiment ภายในที่ไม่ดีนัก โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวได้แย่ที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆในภูมิภาค โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4/62 ที่ผ่านมา ขณะที่นักลงทุนคาดหวังการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐบาลและการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ในปีก่อน แต่การลงทุนมีความล่าช้า
ทั้งนี้ ยังต้องติดตามการทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐเฟส 2 , การปรับตัวของราคาน้ำมัน และการปรับตัวอัตราดอกเบี้ยของทั่วโลกว่าจะออกมาทิศทางใด แต่มองว่าดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกจะเกิดความผันผวนจากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ขณะที่ไทยได้รับปัจจัยหนุนจากปีก่อนที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยถือว่า Underperform กับตลาดหุ้นอื่นทั่วโลก อีกทั้งด้วยปัจจัยกระทบจากการการเปลี่ยนมาตรฐานบัญชี กฎหมายแรงงานที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนจะต้องตั้งสำรองเพิ่ม และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้บริษัทจดทะเบียนต่างๆมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นผิดปกติในปีก่อน แต่ในปีนี้จะไม่มีแล้ว
โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ให้เป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยในปี 63 ไว้ที่ 1,700 จุด และบริษัทจดทะเบียนจะมีกำไรสุทธิเติบโต 10%