บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) มั่นใจว่าปี 63 ผลประกอบการของบริษัทจะขาดทุนลดลงจากปี 62 หลังเห็นทิศทางธุรกิจดีขึ้น โดยจะเสนอแผนธุรกิจและแผนปรับฝูงบินให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทพิจารณาในช่วงกลางเดือน ก.พ.นี้ เบื้องต้นบริษัทมีแผนรับมอบเครื่องบินในปีนี้ไม่เกิน 3 ลำ พร้อมทยอยเปิดจุดบินใหม่ในต่างประเทศ ขณะที่คาดว่าส่วนผู้ถือหุ้นจะพลิกเป็นบวกหลังเพิ่มทุน 2.2 พันล้านบาท NOK(เพิ่มเติม)
ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น NOK วันนี้อนุมัติให้ลดทุนจดทะเบียนจาก 3,408.05 ล้านบาท เป็น 3,309.02 ล้านบาท จากนั้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 4,197.17 ล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญ 888,147,358 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท จัดสรรทั้งจำนวนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) ในอัตราส่วน 3.5 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่ ที่ราคาเสนอขายหุ้นละ 2.50 บาท มูลค่ารวมไม่เกิน 2,220.37 ล้านบาท และกำหนดระยะเวลาเสนอขายวันที่ 3-7 ก.พ.63
นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NOK กล่าวว่า การเพิ่มทุนครั้งนี้คาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ 2.2 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้น NOK กลับมาเป็นบวก จากที่ติดลบ 659 ล้านบาท (ณ สิ้นเดือน ก.ย.62) และคาดว่าจะสามารถปลดเครื่องหมาย C ได้
ทั้งนี้ ในส่วน บมจ.การบินไทย (THAI) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใสน NOK สัดส่วน 15.94% นั้น ผู้บริหาร NOK ได้นำเสนอแผนเพิ่มทุนไปยัง THAI แล้ว แต่จะตัดสินใส่เงินเพิ่มทุนหรือไม่ ยังไม่ทราบ รวมทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่รายอื่นที่เป็นกลุ่มจุฬางกูร ก็ไม่สามารถตอบแทนได้เช่นกัน
อนึ่ง ผู้ถือหุ้นใหญ่ NOK 3 อันดับแรก ได้แก่ นางหทัยรัตน์ จุฬางกูร ถือ 24.37% รองลงมาเป็นนายณัฐพล จุฬางกูร ถือ 24.32% และนายทวีฉัตร จุฬางกูร ถือ 20.98%
นายรัช ตันตนันตา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NOK กล่าวเพิ่มเติมว่าการเพิ่มทุนครั้งนี้จะทำให้บริษัทสามารปรับโครงสร้างทางการเงินให้แข็งแรง เป็นการเพิ่มสภาพคล่อง และทำให้มีศักยภาพและขยายธุรกิจ รวมทั้งเพิ่มความมั่นใจกับคู่ค้ามากขึ้น
ระหว่างนี้บริษัทจัดทำแผนธุรกิจและแผนฝูงบินเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทในช่วงกลางเดือน ก.พ.63 โดยเบื้องต้นคาดว่าปีนี้จะรับมอบเครื่องบินใหม่ เป็นเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 จำนวนไม่เกิน 3 ลำ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 24 ลำ (โบอิ้ง 737-800 จำนวน 16 ลำ Q400 จำนวน 8 ลำ) รองรับจุดบินใหม่ในต่างประเทศแถบอาเซียน ซึ่งจะเปิดใหม่ 2 จุดบินในกลางปี 63 พร้อมทั้งเพิ่มความถี่จุดบินเดิม รวมทั้งจะพิจารณาเส้นทางบินในประเทศที่สอดคล้องกับใช้เครื่องใบพัด Q400 ที่ปัจจุบันบินระยะสั้นเกินไป เพราะต้องการเพิ่มการใช้เครื่องบินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายวุฒิภูมิ กล่าวว่า ในปี 63 เดินหน้าแผน Turnaround เฟส 2 พร้อมตั้งเป้าเป็นสายการบินที่ตรงเวลา ซึ่งได้เริ่มทำในช่วงครึ่งหลังปี 62 ,ควบคุมต้นทุน หรือบริหารต้นทุนให้ดีขึ้นโดยใช้ซอฟท์แวร์เข้ามาบริหาร ส่วนน้ำมันได้ซื้อผ่าน THAI ทำให้ได้ราคาที่ดี โดยต้นทุนน้ำมันมีสัดส่วน 30% ของต้นทุนรวม นอกจากนี้มีแผนปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ได้แก่ นกไลท์ ,นกเอ็กซตร้า และ นกแมกซ์
แม้ที่ผ่านมาการแข่งขันสายการบินรุนแรง แต่ NOK ยังสามารถมีรายได้ต่อกำลังการผลิต (RASK) ดีขึ้น โดย NOK ถือว่ารายได้อยู่ในระดับสูง อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) สูงกว่าสายการบินอื่น ขณะเดียวกันก็พยายามแก้ปัญหาต้นทุน โดยเฉพาพต้นทุนการเช่าเครื่องบิน ต้นทุนการซ่อมบำรุงเครื่องบินที่ติดสัญญาระยะยาว นอกจากนี้ เงินบาทแข็งค่าส่งผลกระทบนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย แต่ NOK มีเที่ยวบินไปจีนกว่า 17 เส้นทางเป็นแบบเช่าเหมาลำ จึงกระทบไม่มากนัก