นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลท. ยังมุ่งยกระดับคุณภาพแพลตฟอร์มตลาดทุนของประเทศและเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันด้านต่าง ๆ เพื่อก้าวสู่เป้ามูลค่ามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) โดยรวมของตลาดหุ้นไทยขึ้นไประดับ 30 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 150% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ภายในปี 66 มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 9.5 หมื่นล้านบาท และมีปริมาณนักลงทุนหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1-2 แสนบัญชีต่อปี
อย่างไรก็ตามการเติบโตของมูลค่ามาร์เก็ตแคปโดยรวมของตลาดหุ้นไทยต้องขึ้นอยู่กับตัวแปรสำคัญคือภาวะเศรษฐกิจไทยและโลกด้วย เพราะปัจจุบันปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น กระทบบรรยากาศลงทุนผันผวน และเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงอาจเติบโตต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง ซึ่งคงต้องติดตามต่อไปว่าจะกระทบความสามารถทำกำไรบริษัทจดทะเบียนโดยรวมหรือไม่
"แม้ว่าเราไม่ได้กังวลกับการเพิ่มขึ้นของมาร์เก็ตแคปใหม่ เพราะแผนระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ท้าทายคือภาวะเศรษฐกิจไทยที่อาจเติบโตต่ำกว่าที่ควรจะเป็นจากเดิมเคยคาดว่าจะเติบโตได้ถึง 4% ตอนนี้พูดกันแค่ 2.8-3% เท่านั้น เป็นหนึ่งตัวแปรสำคัญของการเพิ่มขึ้นมูลค่ามาร์เก็ตแคปในระยะถัดไป แต่สิ่งที่เรายังเชื่อมั่นคือศักยภาพความแข็งแกร่งตลาดทุนบ้านเราทุก ๆ มิติ "นายภากร กล่าว
ด้านนายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลท. กล่าวว่า จากแผนงานในปี 63 ตั้งเป้าหมายมูลค่ามาร์เก็ตแคปใหม่จะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5.5 แสนล้านบาท มาจากการเพิ่มทุนบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ และคาดว่าจะมีบริษัทที่เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) อีกหลายบริษัท
ทั้งนี้ ตามแผนล่าสุดมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 10 บริษัทที่มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปเกิน 1 หมื่นล้านบาทที่อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ SET
นายภากร กล่าวอีกว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 62 อาจจะเติบโตในอัตราชะลอตัว แต่มูลค่ามาร์เก็ตแคปใหม่ในปีที่ผ่านมากลับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 7.8 แสนล้านบาท คิดเป็นมูลค่าหุ้น IPO จำนวน 3.8 แสนล้านบาท สูงสุดในอาเซียน เนื่องจากมีบริษัทขนาดใหญ่หลายรายเข้ามาระดมทุนในช่วงปลายปี 62 อาทิ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าระดมทุนใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ของไทย สะท้อนว่าตลาดหุ้นไทยยังเป็นแหล่งระดมทุนที่มีศักยภาพหากเทียบกับหลายประเทศในแถบอาเซียน
ปัจจุบันสัดส่วนนักลงทุนบุคคลในประเทศมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับสมัยในอดีต ล่าสุดมีสัดส่วนอยู่ที่ 30-35% ใกล้เคียงกับสัดส่วนของกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศและกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติ ส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้ามาของโปรแกรมซื้อขายอัจฉริยะ (AI) ซึ่งทางตลท. มีความพยายามรักษาสัดส่วนของผู้ลงทุนทุกกลุ่มให้มีความสมดุลมากที่สุด ควบคู่ไปกับสร้างการเติบโตฐานผู้ลงทุนในประเทศ อาทิ ยกระดับความรู้เรื่องตลาดทุน เข้าถึงและเข้าใจผลิตภัณฑ์ลงทุนรูปแบบใหม่ และเสริมศักยภาพลงทุนให้กับกลุ่มไฮเน็ตเวิร์ธให้เข้าถึงการใช้โปรแกรมจัดพอร์ตลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
นอกจากนั้นในปี 63 ตลท.มีแนวทางแก้ไขหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและคุ้มครองผลประโยชน์ให้กับกลุ่มนักลงทุนอีกด้วย พร้อมกับมีแผนนำทรัพย์สินที่มีศักยภาพจากต่างประเทศเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น มุ่งเน้นเป็นผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีโอกาสเติบโตและมีคุณภาพ เพื่อช่วยให้ผู้ลงทุนในประเทศมีทางเลือกและกระจายความเสี่ยงรักษาผลตอบแทนที่ดีให้กับพอร์ตลงทุนในระยะยาว
นายภากร ยังกล่าวถึงแผนเปิดให้บริการ "Digital Asset Platform"ว่า ปัจจุบันมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีแล้ว แต่กระบวนการล่าสุดอยู่ในขั้นตอนการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อเข้ามาให้คำแนะนำด้านกฎหมายและกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ Digital Asset ที่จะเข้ามาซื้อขาย และกฎเกณฑ์ต้องสามารถดูแลครอบคลุมสามารถร่วมกับหน่วยงานอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
ขณะที่แนวทางการจัดตั้งรูปแบบการระดมทุนของผู้ประกอบการในธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SME) รวมถึงสตาร์ทอัพ (Startup)ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนการหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปด้านกฏหมายและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เบื้องต้นคาดจะมีความคืบหน้ามากขึ้นในช่วงกลางปี 63