นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปี 63 ว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการ (AUM) เพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท หรือเติบโตราว 12% จากปี 62 ที่อยู่ที่ 827,313 ล้านบาท โดยจะมุ่งเน้นกลยุทธ์ใน 3 ส่วน ได้แก่ ให้ความสำคัญในการกระจายพอร์ตการลงทุนและการบริหารจัดการกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ ที่บริษัทฯ มองว่ายังเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจ มองเห็นโอกาสในการเติบโตไปในเชิงบวก ซึ่งในปี 62 ที่ผ่านมาพบว่ากว่า 97% ของกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศของบริษัทฯ มีการเติบโตเกือบทั้งหมด และส่วนใหญ่เติบโตระดับ 2 หลัก และในปีนี้บริษัทฯ จะยังคงเดินหน้ารุกผลิตภัณฑ์กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งได้มีการคัดเลือกมาอย่างดีและกระจายไปหลาย Asset Class เพื่อรองรับการกระจายการลงทุนให้แก่ลูกค้า
ทั้งนี้ ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย (KTB) โดยเฉพาะในด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อให้บริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งกลุ่มลูกค้ารายใหญ่และรายย่อย รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตรตัวแทนสนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนด้วย ซึ่งในปีที่ผ่านมาธุรกรรมกองทุนของบริษัทฯ ที่เกิดขึ้นผ่านแอพพลิเคชั่น Next ของธนาคารกรุงไทย มียอดซื้อกว่า 14,000 ล้านบาท และธุรกรรมกองทุนที่เกิดขึ้นผ่านแอพพลิเคชั่น KTAM Smart Trade มียอดซื้อกว่า 8,000 ล้านบาท โดย KTAM จะยังคงเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีในการทำธุรกรรมให้ดียิ่งขึ้นตอบโจทย์ในความรวดเร็ว ง่าย และสะดวกสบายแก่ผู้ลงทุนทุกกลุ่มเป้าหมาย
การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อต่อยอดการให้บริการให้เป็น Best Investment Solutions เพื่อตอบโจทย์นักลงทุนในยุคดิจิทัลที่ต้องการความง่าย และสะดวกสบาย เพิ่มความสะดวกแก่นักลงทุนผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีให้ดีมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของลูกค้า และเทรนด์ของนักลงทุนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ซึ่งในปีที่ผ่านมา KTAM ได้เปิดตัว LINE@ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหาความรู้ บทความและเนื้อหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการลงทุน ตอบสนองในการเป็นเพื่อนคู่คิด ที่ปรึกษา และมีนักลงทุนที่สนใจเป็นผู้ติดตามมากถึง 235,625 ราย รวมถึง Facebook ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 180,000 ราย และสำหรับในปีนี้ KTAM จะมุ่งเน้นการนำเสนอคอนเทนท์ที่ง่ายและเข้าถึงผู้ลงทุนทั่วไปมากยิ่งขึ้น เพื่อให้คนเห็นความสำคัญของการออมผ่านกองทุนต่าง ๆ
พร้อมกันนี้บริษัทฯ มีแผนที่จะเปิดจำหน่ายกองทุนควบประกันสุขภาพในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการยื่นขออนุมัติจัดตั้งกองทุนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และยังมีแผนที่จะเปิดจำหน่ายกองทุนอื่น ๆ อีกมากมาย โดยบริษัทฯ กำลังดูความเหมาะสมและจังหวะในการเปิดจำหน่าย ซึ่งจะต้องคำนึงถึงโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนด้วย
ขณะที่บริษัทฯ ก็มีความพยายามที่จะออกกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ให้ได้ในช่วงกลางปีนี้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบซึ่งการนำเสนอจะต้องมีความระมัดระวังอย่างมาก หรืออาจจะเป็นรูปแบบ RMF2 และต้องมีกองทุนหลายกองทุนให้นักลงทุนได้เลือก แต่ช่วงต้นอาจจะเห็น 1-2 กองทุนก่อน
ด้านการลงทุนโดยรวมในปีนี้มองว่าตราสารหนี้ยังเติบโตได้ เพราะถือว่าเป็นทางเลือกอีกอันหนึ่ง ตราสารทุนก็น่าจะมีการเติบโตเช่นเดียวกัน จากสถานการณ์สำคัญ ๆ เริ่มคลี่คลายไปบ้างแล้ว ทำให้เชื่อว่าตราสารทุนในตลาดต่างประเทศยังมีการเติบโตอยู่ ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าตลาดหุ้นในประเทศไทยจะมีการเติบโต จากกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของบริษัทเติบโตดีขึ้น
นายวีระ วุฒิคงศิริกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การลงทุน KTAM กล่าวว่า การจัดพอร์ตการลงทุน บริษัทฯ ยังคงแนะนำให้ผู้ลงทุนกระจายความเสี่ยง (Diversification) ไปในหลายสินทรัพย์และหลายภูมิภาค เนื่องจากตลาดการเงินมีความผันผวนมากขึ้นในระยะหลัง การจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยในช่วงต้นปียังคงมองว่าสินทรัพย์เสี่ยงน่าจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังนักลงทุนคลายความกังวลการเกิดภาวะถดถอย จึงเน้นให้ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยอาจเน้นการลงทุนมาในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EM) ที่น่าจะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดกว่า และ Valuation ไม่ได้ "แพง" มาก รวมถึงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ยังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ในระยะถัดไป นักลงทุนอาจต้องระวังแรงขายทำกำไร และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจพัฒนากลายเป็นปัจจัยกดดันการลงทุนในอนาคต
นายสมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ KTAM กล่าวว่า บริษัทฯ ประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 2.8% ดีขึ้นกว่าในปีก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.4% โดยแรงขับเคลื่อนหลักๆ มาจากงบประมาณปี 2563 ที่ผ่านสภาฯ นโยบายการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและโครงการในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ภาวะดอกเบี้ยต่ำยังถือเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญอีกประการ
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความท้าทายในหลายๆ ด้าน ทั้งปัจจัยระยะยาวอย่างปัญหาประชากรสูงวัย และการเข้ามามีบทบาทสำคัญของเทคโนโลยี (Technology Disruption) และปัจจัยระยะสั้น อย่างค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ความเสี่ยงของการขยายตัวเศรษฐกิจโลก และปัญหาปริมาณน้ำในเขื่อนต่ำ ทำให้คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจมีลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีน่าจะอยู่ที่ 1.00%
"ปีที่แล้วเศรษฐกิจไทยน่าจะแย่ไปแล้ว ปีนี้สัญญาณโลกน่าจะดีขึ้น เห็นได้จากการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีการเซ็นสัญญาในเฟสแรก และไม่มีการขึ้นภาษีแล้ว ทำให้มองว่าช่วงครึ่งปีแรกน่าจะมีความกังวลต่อสถานการณ์ไปได้ รวมถึงเห็นสัญญาณเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มดีขึ้น ซึ่งไทยก็น่าจะได้รับอานิสงส์ตรงนั้นด้วย และงบประมาณประจำปี 2563 ที่ผ่านสภาฯ ก็น่าจะเป็นอีกปัจจัยที่เข้ามาช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเรามองการเติบโตของ GDP ที่ 2.8% จากยังมีปัจจัยลบเข้ามากระทบอยู่ ทั้งเรื่องของภัยแล้ง ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ความผันผวนในตลาดโลก"