นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า สำหรับปี 63 นี้ ผู้บริหารชุดใหม่ที่เป็นการประสานความร่วมมือระหว่างผู้บริหารจากทั้ง TMB และธนาคารธนชาต พร้อมเดินหน้าสานพันธกิจการรวมกิจการ เพิ่มศักยภาพของธนาคารในการให้บริการและส่งมอบประสบการณ์ทางการเงินที่ดียิ่งขึ้นให้กับฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นแตะระดับ 10 ล้านราย และในส่วนของเป้าหมายทางการเงินปี 63 อยู่ระหว่างการนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการในปลายสัปดาห์นี้
สำหรับภาพรวมการดำเนินงานปี 62 นับว่ามีความท้าทายไม่น้อยทั้งในเรื่องของภาพรวมทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในอุตสาหกรรมธนาคาร ขณะที่ TMB มีโครงการรวมกิจการ ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ตลอดทั้งปีจึงให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ มุ่งปรับปรุงคุณภาพพอร์ตสินเชื่อและฐานะทางการเงินให้มีความแข็งแกร่ง
ขณะเดียวกันก็ได้เริ่มเตรียมความพร้อมสำหรับการรวมกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ M-Rate ของทั้งสองธนาคารให้อยู่ในระดับเดียวกัน การเตรียมสภาพคล่องไว้ขยายพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ การขายหุ้นใน บลจ.ธนชาต เพื่อตอกย้ำกลยุทธ์การให้บริการกองทุนรวม Open Architecture ของ TMB จากการเตรียมการต่างๆ เหล่านี้ จึงมั่นใจว่าธนาคารมีความพร้อมสำหรับก้าวใหม่ในปี 63 ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรฐานบัญชี IFRS 9 และการดำเนินการรวมกิจการตามแผนที่ได้วางไว้
ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นขั้นตอนการซื้อหุ้นธนาคารธนชาตเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.62 ที่ผ่านมา ในงบการเงินรวมของ TMB จะรวมผลการดำเนินงานของธนาคารธนชาตในฐานะบริษัทย่อยเข้ามา โดยด้านงบดุลจะรวมผลการดำเนินงานของธนาคารธนชาต ณ สิ้นสุด 31 ธ.ค.62 ขณะที่งบกำไรขาดทุนนั้น จะรวมผลการดำเนินงานของธนาคารธนชาตเฉพาะช่วงวันที่ 4-31 ธ.ค.62 ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 62 มีสินทรัพย์ ตามงบการเงินรวม จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 0.9 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 61
ด้านเงินฝากเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท จาก 0.6 ล้านล้านบาท จากผลของการรวมกิจการและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเงินฝากที่เป็น Flagship Product ของทีเอ็มบี โดยเฉพาะจากเงินฝากบัญชี ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี และทีเอ็มบี โนฟิกซ์ ด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท จาก 0.7 ล้านล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อของธนาคารธนชาตที่รวมเข้ามา ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับรายย่อยของ TMB ก็ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ในส่วนของรายได้จากการดำเนินงานรอบ 12 เดือนปี 62 ตามงบการเงินรวม อยู่ที่ 39,821 ล้านบาท ลดลงจาก 48,042 ล้านบาท ในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การลดลงมีสาเหตุหลักจากการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย จากการเปรียบเทียบกับฐานสูงในปี 61 ซึ่งในปีดังกล่าว TMB บันทึกรายได้พิเศษจากการขายหุ้น TMBAM 65% จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท จึงทำให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (งบการเงินรวม ) ในปี 61 อยู่ที่ 23,545 ล้านบาท สูงกว่า 12,956 ล้านบาทในปี 62
ทั้งนี้ หากตัดรายการพิเศษดังกล่าวออกไป รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในปี 62 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 11% เมื่อประกอบกับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 9.7% เทียบกับปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 26,865 ล้านบาท จากรายได้จากเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้น และการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยการให้เช่าซื้อและสัญญาเช่าการเงินจากธนาคารธนชาต จะทำให้รายได้จากการดำเนินงานในปี 62 ปรับตัวดีขึ้น 10% โดยประมาณ
ทั้งนี้ ในส่วนของธุรกรรมการขายหุ้น บลจ.ธนชาต หรือ TFUND นั้น สำหรับ TMB จะรับรู้รายการขายดังกล่าวจากธนาคารธนชาต ซึ่งเป็นบริษัทลูก แต่จะไม่มีการบันทึกกำไรจากรายการนี้ เนื่องจากในการรวมกิจการ TMB ดำเนินการบันทึกและรับรู้มูลค่าของ TFUND เข้ามาด้วย Fair Value แล้ว ดังนั้น การที่ธนาคารธนชาตขายหุ้น TFUND ออกไป 25.1% ที่เกิดขึ้นในไตรมาส 4 นั้น จึงไม่มีการบันทึกกำไร โดยสำหรับ TFUND ส่วนที่เหลือ 49.9% ที่ธนาคารธนชาตถืออยู่ ทีเอ็มบีจะรับรู้รายได้เข้ามาจากส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม (Profit sharing from associate company)
ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (งบการเงินรวม) อยู่ที่ 20,674 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.3% จากปีก่อนหน้า การเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรับรู้ค่าใช้จ่ายของธนาคารธนชาต ประกอบกับในปี 62 มีค่าใช้จ่าย one-time หลายรายการ เช่น ค่าใช้จ่าย Employee Retirement Benefit ตามพรบ.คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขใหม่ ค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาโครงการรวมกิจการ (Advisory Fee) เป็นต้น
โดยทั้งปี 62 TMB ดำเนินการตั้งสำรองฯ เป็นจำนวน 10,337 ล้านบาท ตามแผนการปรับปรุงคุณภาพพอร์ตสินเชื่อ ซึ่งหลังจากหักสำรองฯ และภาษี ธนาคารมีกำไรสุทธิสำหรับปี 62 จำนวน 7,222 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับ 11,601 ล้านบาท ในปีก่อนหน้า จากผลของการบันทึกรายได้พิเศษในปี 61 และค่าใช้จ่าย one-time ที่เกิดขึ้นในปี 62 ที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้า
ด้านคุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นตามแผน โดยในส่วนของ TMB (งบการเงินเฉพาะ) สามารถลดสัดส่วนหนี้เสียลงมาอยู่ที่ 2.33% จาก 2.76% ในปีที่แล้ว ส่วนอัตราส่วนสำรองฯ ต่อหนี้เสีย ซึ่งสะท้อนความสามารถในการรองรับความเสี่ยงอยู่ที่ 140% (งบการเงินเฉพาะ) เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ สำหรับงบการเงินรวม สัดส่วนหนี้เสียอยู่ที่ 2.30% และอัตราส่วนสำรองฯ ต่อหนี้เสียยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 120%
ส่วนของระดับความเพียงพอของเงินกองทุน ในเบื้องต้นอัตราส่วน CAR และ Tier I (งบการเงินรวม) ณ สิ้นปี 2562 ประมาณการณ์ว่าจะอยู่ที่ 17% และ 13% ซึ่งยังคงเป็นไปตามเกณฑ์ Basel III และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 11.0% และ 8.5% ตามลำดับ