TRINITY คาด SET ปี 63 ขึ้นไปที่ 1,700 -1,740 จุด สภาพคล่องสูง-ลงทุนภาครัฐหนุน แต่ยังถูกกดดันจากบาทแข็ง-ต่างชาติขาย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 21, 2020 14:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ (TRINTY) กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนในปี 63 จะเข้าสู่ช่วงทศวรรษแห่งความเสี่ยง (ปี 63-73) ซึ่งจะเป็นยุคที่นักลงทุนหาผลตอบแทนได้ยากขึ้นจากภาวะหนี้สินที่เพิ่มขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก เป็นผลจากการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านกระบวนการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก กว่า 15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา

การทำ QE ของธนาคารกลางต่าง ๆ ทำให้สภาพคล่องในระบบสูงขึ้น ผลักดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐ ปรับตัวขึ้นกว่า 174% ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นกว่า 115% นอกจากนี้ราคาสินทรัพย์เกือบทุกประเภทเพิ่มขึ้น เช่น ทองคำในรูปเหรียญสหรัฐ ปรับตัวขึ้นกว่า 38% ราคาที่ดินในกรุงเทพฯและปริมณฑลปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 118% และผลตอบแทนพันธบัตรไทยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 69% แต่หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นจาก 58% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ( GDP) มาสู่ 80% ของ GDP ในช่วงระยะเวลา10 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่างๆที่เกิดขึ้น

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยปีนี้ ยังคงอยู่ในภาวะเติบโตต่ำ (Low growth) และเงินเฟ้อต่ำ (Low inflation) โดยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังมีทิศทางที่ทรงตัว แต่อย่างไรก็ตามอาจจะมีการฟื้นตัวได้ เนื่องสงครามการค้าสงบลงชั่วคราว แต่ยังมีปัจจัยที่จำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในเชิงสภาพคล่อง ได้แก่ นโยบายทางการเงินเริ่มจำกัดลง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำมาก และระดับหนี้สาธารณะในหลายประเทศที่สูงขึ้น ดังนั้น จึงคาดว่ารัฐบาลหรือธนาคารกลางประเทศต่างๆ อาจจะออกมาตรการเพื่อช่วยผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มโดยตรงมากขึ้น

ทั้งนี้ บล.ทรีนีตี้ ประเมินว่าปีนี้ GDP ไทยจะขยายตัว 2.8-2.9 % และทิศทางตลาดหุ้นไทยจะแกว่งตัวเป็น Sideway ขนาดใหญ่ ในกรอบ 1,480-1,700 จากประมาณการกำไรสุทธิ/หุ้น (EPS) ของบริษัทจดทะเบียน ยังคงไม่มีสัญญาณการถูกปรับขึ้น แต่ตลาดหุ้นไทยจะมีแรงจูงใจเรื่องเงินปันผล (Yield-Driven Market) ที่ดี โดยคาดการณ์ว่า ดัชนีหุ้นไทยจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 4 เดือนแรก ตามปัจจัยฤดูกาลของหุ้นปันผลสูง ก่อนที่จะปรับย่อตัวลงหลังจากนั้น

โดยในช่วงที่เหลือของปี ทิศทางหุ้นไทยจะแกว่งตัวไปตามพัฒนาการของประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอิงกับปัจจัยสำคัญที่เข้ามากระทบ ทั้งความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ทิศทางของสงครามการค้า ราคาน้ำมันดิบ ค่าเงินบาท มาตรฐานบัญชีใหม่ มาตรการกำกับดูเลสถาบันการเงิน สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และการเบิกจ่ายงบประมาณต่าง ๆ ขณะที่มองว่าภัยแล้งมีผลเสียหายทางเศรษฐกิจไม่มากนัก แต่จะกระทบการบริโภคภาคครัวเรือน เนื่องจากภาคการเกษตรเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศไทย

"ทรีนีตี้ ประเมินดัชนีเป้าหมายปี 63 ว่าจะขึ้นไปได้สูงสุดที่ระดับ 1,700 จุด บนระดับ P/E ที่ 15.4 เท่า และประมาณการ EPS ปี 64 ที่ระดับ 110.9 บาท โดยประเมินว่า ประมาณการ EPS ในตลาดหุ้นไทย จะเริ่มแกว่งแรงอีกครั้ง ในช่วงใกล้ประกาศงบบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไตรมาส 4/62 เริ่มตั้งแต่การประกาศงบการเงินของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ แต่ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% เป้าหมายของ P/E จะถูกปรับเพิ่มขึ้นจาก 15.4 เท่าเป็น 15.8 เท่า ทำให้เป้าหมายดัชนีหุ้นเพิ่มขึ้นได้อีก 40 จุด มาสู่ระดับ 1,740 จุด"นายวิศิษฐ์ กล่าว

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่มีผลบวกต่อตลาดหุ้นไทย คือ สงครามการค้าที่ผ่านพ้นความตึงเครียดสูงสุดไปแล้ว ทำให้ผู้ผลิตและผู้จัดซื้อมีความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโลกมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่สภาพคล่องในระบบการเงินโลกยังคงสูงอยู่ สะท้อนผ่านขนาดงบดุลของธนาคารกลางสำคัญ ที่จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป ขณะที่ประเทศไทย ความคาดหวังสำคัญอยู่ที่การใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐ หลังร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ ในไตรมาส 1/63 นี้ พร้อมกันนี้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯมีความแข็งแกร่งทางด้านการเงินมากด้วย

ส่วนปัจจัยที่เป็นลบคือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ศักยภาพในการแข่งขันลดลง ในขณะเดียวกันการเกิด Technology Disruption การจ้างงานที่ลดลงทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง การผลิตในประเทศลดลง

ขณะที่ Fund Flow หรือกระแสเงินทุนจะยังไม่เข้ามายังตลาดหุ้นไทย โดยนักลงทุนต่างชาติเป็นฝ่ายขายสุทธิกว่า 3,000 ล้านบาท นับตั้งแต่ต้นปี 63 และมียอดขายสุทธิกว่า 5 แสนล้านบาทในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โดยสัดส่วนการถือครองของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยถือว่าลดลงเกือบต่ำสุดในรอบ 15 ปี โดยมีสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยอยู่ที่ 28.2%ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศมียอดซื้อสุทธิกว่า 5 แสนล้านบาทในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ จะชะลอตัวลง หลังสิทธิพิเศษภาษีกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หมดลง และผันไปเป็นกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ซึ่งทำให้เม็ดเงินลงทุนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบันเม็ดเงิน LTF ในระบบมีอยู่ 3.8 แสนล้านบาท จะทยอยหมดอายุภายในปี 68 หากไม่มีกองทุนอื่นมาทดแทน

ทั้งนี้ บล.ทรีนีตี้ แนะนำการจัด Portfolio โดยให้ลงทุนในหุ้น 30% แบ่งเป็น หุ้นไทย 10% และหุ้นต่างประเทศ 20% โดยเฉพาะหุ้นใน Asian เช่นหุ้นจีน และหุ้นเวียดนาม โดยเน้นกองทุนที่สามารถลงทุน โดยไม่มี Foreign Premium , ลงทุนในตราสารหนี้ 30% แบ่งเป็น ตราสารหนี้ไทย 10% และตราสารหนี้ต่างประเทศ 20% , ลงทุนทองคำ 10% โดยลงทุนในกองทุนทองคำที่ Fully hedged ค่าเงิน , ลงทุนกองทุนอสังหาริมทรัพย์ 10% โดยเป็นกองทุนในประเทศ 5% และกองทุนต่างประเทศ 5% ขณะที่ให้ถือเงินสด 20% เพื่อใช้เป็นจังหวะในการซื้อสินทรัพย์ ในช่วงที่ราคาปรับตัวลงมา

โดยแนะนำให้ลงทุนในกลุ่มหุ้นปันผลสูง High Dividend Stock คือ SCC, PTT, ADVANC, BCP และ BBL ซึ่งประเมินว่า จะให้ผลตอบแทนที่ดี โดยจากงานวิจัยพบว่าสถิติ 9 ปีย้อนหลังที่ผ่านมา การลงทุนในหุ้นปันผลสูงจะมีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนประมาณ 9.6% ในช่วงระยะเวลาการลงทุนเพียง 4 เดือน ของการถือครองหุ้น (ม.ค.-เม.ย.)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ