ธนาคารกรุงเทพ (BBL) รายงานผลประกอบการปี 2562 มีกำไรสุทธิ 35,816 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4% จากปีก่อน ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยมีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 3.3% เป็นผลจากค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อเพิ่มขึ้น ประกอบกับการเติบโตของค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม สอดคล้องกับเจตนารมณ์เชิงกลยุทธ์ของธนาคาร ส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อย
ขณะที่มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 2.35% รายได้จากการดำเนินงานอื่นเพิ่มขึ้น 52.3% จากกำไรสุทธิจากเงินลงทุน แม้ว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับทรงตัว ธนาคารมีการตั้งค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษในปีนี้ เพื่อเสริมสร้างระดับสำรองของธนาคารให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้นตามหลักความระมัดระวัง ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่กฎเกณฑ์ใหม่ทางบัญชีซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการกันสำรองที่ลดลง
สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงเล็กน้อย 0.4% จากปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานยังคงอยู่ในระดับดีที่ 41.1%
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,061,309 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.0% จากสิ้นเดือนกันยายน 2562 จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อทุกกลุ่ม เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนธันวาคม 2561 เงินให้สินเชื่อลดลง 1%
สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.4% ขณะที่เงินสำรองของธนาคารคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 220.2% ของเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลกระบวนการอำนวยสินเชื่อและการบริหารความเสี่ยง พร้อมทั้งบริหารคุณภาพสินเชื่อควบคู่กับการดำรงค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ธนาคารยังคงแนวทางการบริหารฐานะการเงินด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง พร้อมทั้งรักษาเงินกองทุนและสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ณ สิ้นปี 2562 อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 86.9% นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 ธนาคารออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิ อายุ 15 ปี ที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ภายใต้หลักเกณฑ์ Basel III จำนวน 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสนับสนุนให้โครงสร้างเงินกองทุนของธนาคารมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 20.0% , 17.0% และ 17.0% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่าตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ทั้งนี้ ในปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน จากการส่งออกที่ลดลง ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนลดลงตามไปด้วย ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ความไม่แน่นอนของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ และค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าที่คาด ขณะที่การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น หนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวน้อยกว่าคาดจากความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณประจำปี 2563
BBL ระบุเพิ่มเติมว่า ในไตรมาส 4/62 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 8,002 ล้านบาท ลดลง 15.2% จากไตรมาสก่อน และลดลง 1.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในไตรมาสนี้ มีค่าใช้จ่ายหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ และขาดทุนจากการด้อยค่า จำนวน 16,342 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 203.7% เมื่อเทียบกับจำนวน 5,381 ล้านบาท ในไตรมาส 3/62 และเพิ่มขึ้น 491% จากจำนวน 2,765 ล้านบาท ในไตรมาส 4/61 สำหรับปี 2562 มีค่าใช้จ่ายหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ และขาดทุนจากการด้อยค่า จำนวน 32,351 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,386 ล้านบาท หรือ 47.3% จากปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการบริหารฐานะการเงินด้วยความระมัดระวัง