(เพิ่มเติม1) ก.ล.ต.คาดประกาศเกณฑ์ SMEs-สตาร์ทอัพระดมทุนใน Q1/63 ส่วนตลาดรองรอความชัดเจนจาก ตลท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 22, 2020 17:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) ประจำเดือน ม.ค.63 ว่า คณะกรรมการ ก.ต.ท. มีมติเห็นชอบเกณฑ์เปิดทางเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพระดมทุนได้ทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง

คณะกรรมการ ก.ต.ท. มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการระดมทุนของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพออกและเสนอขายหุ้นแก่ผู้ลงทุนในวงจำกัดและผู้ลงทุนทั่วไป และเปิดโอกาสให้นำหุ้นไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดรองได้ โดยเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่เป็นบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งมีผลการดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง หรือมีมูลค่ากิจการระดับหนึ่งแล้ว สามารถระดมทุนและนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดรองได้โดยไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตต่อ ก.ล.ต. แต่ต้องเปิดเผยข้อมูลของกิจการและงบการเงินตามที่กำหนด

และผู้ลงทุนต้องมีลักษณะต่อไปนี้

(1) ผู้ลงทุนสถาบัน กิจการเงินร่วมลงทุน นิติบุคคลร่วมลงทุน ผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ

(2) กรรมการและพนักงานของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ หรือบริษัทในเครือ

(3) ผู้ลงทุนที่มีประกาศนียบัตรวิชาชีพที่แสดงถึงความรู้ด้านการเงินและการลงทุน (professional license)

(4) ผู้ลงทุนทั่วไปที่มีความรู้และประสบการณ์การลงทุนโดยมีเงินลงทุนโดยตรงในหุ้นเฉลี่ยตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไปในรอบ 12 เดือนล่าสุด

ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และคาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องหลักเกณฑ์ภายในไตรมาส 1/63 ในส่วนการจัดตั้งตลาดรองเพื่อรองรับการจดทะเบียนของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อยู่ระหว่างหารือเรื่องรูปแบบตลาดที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

นางสาวรื่นวดี กล่าวว่า หลักเกณฑ์กำกับดูแลในตลาดแรกนั้น การลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้กำหนดให้บริษัทไม่ต้องขออนุญาต แต่ให้เปิดเผยข้อมูลสำคัญ ซึ่งจะช่วยให้มีความสะดวกและรวดเร็วในการดำเนินงาน ผ่อนปรนการเปิดเผยข้อมูลงบการเงินเป็นการส่งงบแบบครึ่งปีได้ และไม่ต้องจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน (FA)

ส่วนแนวทางของมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน โดยจำกัดประเภทผู้ลงทุน มุ่งเน้นผู้ที่มีความรู้ มีประสบการณ์ มีทรัพย์สินเพียงพอสามารถรองรับความเสี่ยงได้ แต่ผู้ลงทุนรายย่อยที่ต้องการเข้ามาลงทุนในบริษัทจำกัด (บจก.) และบริษัทมหาชนจำกัด (บมจ.) ที่มีผลการดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหนึ่งหรือมีมูลค่ากิจการระดับหนึ่งแล้ว โดยบริษัทที่เป็น บจก.จะเปิดให้ระดมทุนได้เฉพาะกับนักลงทุนสถาบัน (II), Venture Capital (VC), Angel,กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน (ESOP) และนักลงทุนรายย่อยกำหนดไม่เกินจำนวน 10 รายหรือไม่เกิน 20 ล้านบาท ขณะที่บริษัทที่เป็น บมจ.สามารถระดมทุนได้กับนักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายย่อยไม่เกิน 50 รายหรือไม่เกิน 20 ล้านบาท

"สำหรับการนำหุ้นของ SMEs และสตาร์ทอัพไปซื้อขายผ่านตลาดรอง เราจะผ่อนเกณฑ์น้อยกว่าบริษัทที่เข้าจดทะเบียนใน SET และ mai รายได้อาจอยู่ในเกณฑ์ 100-500 ล้านบาทต่อปี หรือมี track record อยู่แล้ว แต่เกณฑ์ดูแลผู้ลงทุนหรือรายละเอียดต่างๆ คงต้องรอความชัดเจนของตลาดหลักทรัพย์ประกาศอีกครั้ง ซึ่งทาง ก.ล.ต. ก็ร่วมทำงานเรื่องนี้กันอย่างใกล้ชิด"นางสาวรื่นวดี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ