โบรกเกอร์แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หลังมองกำไรปี 63 จะเติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นกว่า 11% หลังรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มปีจากโครงการที่ได้ซื้อเข้ามาในปีที่แล้วทั้งในส่วนของ Murphy Oil Corporation ในมาเลเซีย และกิจการ Partex ในตะวันออกกลาง ขณะที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน และน่าจะยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากการที่โอเปกและพันธมิตรเพิ่มการลดกำลังการผลิตอีก 5 แสนบาร์เรล/วันในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.63 และยังมีเหตุความไม่สงบในตะวันออกกลางเข้ามาเพิ่มเติมด้วย
อย่างไรก็ตาม มองว่ากำไรของ PTTEP ในปี 63 ยังถูกกดดันจากต้นทุนต่อหน่วยที่ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย และราคาขายก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะลดลง ตามสูตรราคาที่อิงกับราคาน้ำมันเตากำมะถันสูง (HSFO) ที่ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังเกณฑ์ใหม่ IMO2020 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปีนี้
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 4/62 ที่เตรียมจะประกาศในวันที่ 30 ม.ค.นั้น คาดว่า PTTEP จะรายงานกำไรสุทธิที่ราว 1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ตามปริมาณขายที่เติบโต และต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลง ช่วยชดเชยราคาขายเฉลี่ยที่ลดลงเมื่อเทียบกับงวดปีก่อน แต่ทรงตัวจากไตรมาสก่อน
พักเที่ยงราคาหุ้น PTTEP อยู่ที่ 128.50 บาท ลดลง 0.50 บาท หรือ 0.39% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ลดลง 0.14%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย เอเซีย พลัส ซื้อ 170.00 ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ ซื้อ 159.00 ทิสโก้ ซื้อ 142.00 เคทีบี (ประเทศไทย) ซื้อ 142.00 ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 140.00 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ทยอยซื้อ 141.00 คิงส์ฟอร์ด TRADING BUY 142.00 หยวนต้า (ประเทศไทย) TRADING 142.00
นางสาวนลินรัตน์ กิตติกำพลรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของ PTTEP ในปี 63 คาดว่าจะมีกำไรปกติ 4.7 หมื่นล้านบาท เติบโตราว 5% จากราว 4.5 หมื่นล้านบาทในปีที่แล้ว มีปัจจัยหนุนหลักจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น 11.5% มาอยู่ที่ 3.88 แสนบาร์เรล/วัน จากการรับรู้เต็มปีของการเข้าซื้อกิจการในปีที่ผ่านมาทั้งในส่วนของ Murphy Oil ในมาเลเซีย และกิจการ Partex ในตะวันออกกลาง ขณะที่ประเมินราคาน้ำมันดิบ ดูไบ จะเพิ่มขึ้นมาที่ 65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 61.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปี 62
อย่างไรก็ตาม ในด้านต้นทุนต่อหน่วยคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามการลงทุน และราคาก๊าซฯที่คาดว่าจะปรับลดลง ตามสูตรราคาขายก๊าซฯในอ่าวไทยของ PTTEP ที่อิงกับราคาน้ำมันเตากำมะถันสูง ซึ่งมีราคาปรับลดลง หลังจากที่เกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) กำหนดให้เรือเดินสมุทรต้องใช้น้ำมันเตาที่มีค่ากำมะถันต่ำไม่เกินกว่า 0.5% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63
"ปริมาณขายที่จะเพิ่มขึ้นจากโครงการใหม่จะเป็นตัวขับเคลื่อนกำไรของ PTTEP ในปีนี้ ทั้งในส่วนของโครงการที่มาเลเซีย และโครงการ Partex ที่จะรับรู้ได้เต็มปี แต่ก็จะถูกหักล้างบางส่วนจากต้นทุนนต่อหน่วยที่คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และราคาขายก๊าซฯที่คาดจะปรับตัวลดลงเพราะรับผลกระทบจากราคาน้ำมันเตากำมะถันสูงที่ปรับตัวลดลงมีนัยในปัจจุบัน"นางสาวนลินรัตน์ กล่าว
นางสาวนลินรัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/62 ของ PTTEP คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.5% จากไตรมาสก่อน รับผลบวกจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นราว 6.5% มาอยู่ที่ 3.76 แสนบาร์เรล/วัน และราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นราว 3.2% มาอยู่ที่ 47.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ต้นทุนต่อหน่วยลดลงมาอยู่ที่ 31.50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 31.99 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาสก่อน ส่งผลให้กำไรสุทธิทั้งปี 62 อยู่ที่ 4.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.6% จากปี 61 โดยมีกำไรปกติอยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.6% จากปี 61
ด้านราคาหุ้น PTTEP ในช่วงที่ผ่านมามีการปรับฐานสะท้อนปัจจัยที่เข้ามากระทบต่าง ๆ ไประดับหนึ่งแล้วจนทำให้ Upside อยู่ในระดับที่น่าสนใจ อีกทั้งยังให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (dividend yield) ที่ดีกว่า 4% ทำให้มีความน่าสนใจลงทุน
บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ผลการดำเนินงานของ PTTEP ในไตรมาส 4/62 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 1.27 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 15% จากไตรมาสก่อน จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นจากการรวม Murphy Oil และ Partex ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์ยังทรงตัวที่ราว 46 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ตามราคาน้ำมันที่ทรงตัว ส่วนต้นทุนต่อหน่วยลดลงจากไตรมาสก่อน จากค่าค่าใช้จ่ายสำรวจและตัดจำหน่ายหลุมที่ลดลง ส่งผลให้ทั้งปี 62 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ราว 4.95 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% จากปี 61
ส่วนในปีนี้ PTTEP อาจมี Upside หลังจากจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร ลดกำลังผลิตลงอีก 5 แสนบาร์เรล/วัน รวมเป็นการลดกำลังการผลิต 1.7 ล้านบาร์เรล/วัน ในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.63 และเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง ทั้งการประท้วงในอิรัก และการปิดท่าเรือของลิเบีย ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ทรงตัวในระดับสูงที่ 64 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลนับตั้งแต่ต้นไตรมาส 1/63 สูงกว่าสมมติฐานราคาน้ำมันปี 63 ของเคทีบีฯที่ 62 เหรียญสหรัฐ/บาร์เล ซึ่งถ้าโอเปกส่งสัญญาณลดกำลังผลิตในระดับนี้ต่อไปจนถึงสิ้นปี 63 อาจจะต้องปรับประมาณสมมติฐานราคาน้ำมันและปรับขึ้นประมาณการกำไรปี 63 ของ PTTEP
บทวิเคราะห์บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า PTTEP จะประกาศกำไรปกติในไตรมาส 4/62 ที่ราว 1.04 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากไตรมาสก่อน และ 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามปริมาณขายที่เติบโตจากการรับรู้ปริมาณขายของ Murphy Oil เต็มไตรมาสครั้งแรก และเริ่มรับรู้ปริมาณขายของ Partex ที่ปิดดีลซื้อกิจการเมื่อเดือนพ.ย.62
ขณะที่อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี ,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) คาดว่าจะรักษาระดับที่ 71.8% โดยประเมินว่าต้นทุนผลิตจะลดลงเหลือ 31.3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลง 2% จากไตรมาสก่อน และ 4% จากงวดปีก่อน เพียงพอชดเชยราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง 4% จากงวดปีก่อน แต่ทรงตัวจากไตรมาสก่อน มาที่ 46.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก
นอกจากนี้ ค่าเงินบาทในไตรมาส 4/62 แข็งค่าราว 0.84 บาท/ดอลลาร์ ทำให้คาดว่าจะมีประโยชน์ทางภาษีอีกราว 2.1 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามคาดการณ์ดังกล่าวยังไม่รวมผลของการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมัน
ส่วนแนวโน้มกำไรปกติในปี 63 ประเมินที่ 4.58 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 5% จากปีที่แล้ว จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ปรับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบปี 63 ขึ้นเป็น 62 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากเดิม 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สะท้อนค่าพรีเมียมความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risk premium) จากเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง ซึ่งอยู่ในช่วงที่ตลาดน้ำมันที่กำลังอยู่ในภาวะตึงตัว เนื่องจากกลุ่มโอเปกและพันธมิตรได้เริ่มปรับลดการผลิตลงอีก 5 แสนบาร์เรล/วัน ตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงเดือนมี.ค.63 ส่งผลให้ราคาน้ำมันมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้ในระยะสั้น หากเกิดปัญหา Supply disruption เพิ่มเติม โดยประเมิน Sensitivity ทุก 1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จะส่งผลต่อกำไร 0.9 พันล้านบาท และราคาเหมาะสม 2.4 บาท