COTTO ตั้งเป้ารายได้ปี 63 โตรับผลดีรุกตลาดส่งออก พร้อมใช้งบ 400-500 ลบ.ปรับปรุง-ขยายสาขาโมเดลธุรกิจใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 24, 2020 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอสซีจี เซรามิกส์ (COTTO) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 63 จะพลิกกลับมาเติบโต หลังจากปีก่อนรายได้จากการขายลดลง 4% มาอยู่ที่ 11,074 ล้านบาท

สำหรับรายได้ที่เติบโตในปีนี้ส่วนหนึ่งมาจากการปรับโครงสร้างด้านต้นทุน ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นแม้สภาพเศรษฐกิจยังมีปัจจัยลบเข้ามาค่อนข้างมาก รวมถึงแผนการรุกตลาดส่งออกที่จะเน้นตลาดเกิดใหม่ อย่างเมียนมา ลาว และกัมพูชา (CLM) โดยเฉพาะตลาดเมียนมาที่มีคนเข้ามาทำงานในไทยค่อนข้างมาก เมื่อกลับไปยังบ้านเกิดก็จะแนะนำให้ใช้สินค้าไทย คาดว่าทั้งปีนี้สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศจะขยับเพิ่มเป็น 20% จากเดิม 18% ซึ่งราวครึ่งหนึ่งมาจากกลุ่มประเทศ CLM

แม้ว่าตลาดเซรามิกในประเทศในปีนี้อาจจะไม่เติบโตหรือทรงตัว แต่ก็คาดว่ารายได้ของบริษัทน่าจะยังเติบโตได้ 3-5% จากปีก่อน แต่หากตลาดในประเทศเติบโตได้ดี ก็ยิ่งมั่นใจว่ารายได้จะทำได้ดีมากขึ้น เพราะความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้นของบริษัท

ทั้งนี้ บริษัทเชื่อว่าตลาดในประเทศน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/63 เป็นต้นไป ซึ่งก็ยังต้องติดตามดูมาตรการสนับสนุน หรือการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐ ถ้ามีมาตรการเพิ่มออกมาก็น่าจะทำให้ภาพรวมเติบโตได้ดีขึ้น โดยปัจจุบันมูลค่าตลาดเซรามิก ทั้งกระเบื้องปูพื้น และกระเบื้องบุผนังในไทย มีมูลค่ากว่า 30,000-35,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัทมีส่วนแบ่ง 1 ใน 3 ของตลาดรวม

นายนำพล กล่าวว่า ความท้าทายในปีนี้เป็นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีความผันผวนสูง และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งบริษัทก็มีการปรับตัว โดยออกผลิตภัณฑ์ที่เข้ากับเทรนด์ดังกล่าว เช่น ผลิตภัณฑ์เซฟตี้ เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ คือ "คลังเซรามิค แฟมิลี" ซึ่งเป็นการร่วมมือกับผู้แทนจำหน่ายที่มีศักยภาพเปิดสาขา"คลังเซรามิค"ร่วมกันเพื่อช่วยให้ขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว โดยปีนี้ตั้งเป้าขยายสาขารูปแบบดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 15 สาขา และจะขยายสาขา"คลังเซรามิค"ให้ครบ 100 สาขาภายในปี 66 ตลอดจนมองหาการเติบโตจากประเทศที่มีโอกาสเติบโต เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา โดยเฉพาะเมียนมา ที่คาดว่าเศรษฐกิจน่าจะยังขยายตัวได้ 10%

พร้อมกันนี้บริษัทได้วางงบลงทุนรวมปีนี้ไว้ที่ 400-500 ล้านบาท โดยจะใช้ในการปรับปรุงสาขาเดิม และขยายสาขา "คลังเซรามิค แฟมิลี่" ซึ่งทำให้บริษัทสามารถประหยัดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนจาก 6-10 ล้านบาท เหลือ 3-5 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีสาขารวมทั้งสิ้นอยู่ที่ 28 สาขา

นายนำพล กล่าวว่า บริษัทมีแผนขายที่ดินเพิ่มเติมจากปัจจุบันมีที่ดินพร้อมขายอยู่ที่ 80 ไร่ในนิคมอุตสาหกรรมหนองแค ขณะที่ในปี 62 มีการขายที่ดินไปราว 50 ไร่

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 62 บริษัทมีรายได้จากการขายรวม 11,074 ล้านบาท ลดลง 4% จากปี 61 และมีกำไรสุทธิรวม 168 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 158 ล้านบาท มีปัจจัยสำคัญจากต้นทุนการผลิตที่ลดลงตามราคาก๊าซธรรมชาติ รวมถึงความสามารถในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ประกอบกับสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการบริหาร การขายและการตลาดได้ตามเป้าหมาย และมีกำไรจากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมหนองแคเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อน

ในปี 62 บริษัทมีรายได้จากการส่งออก 1,946 ล้านบาท และรายได้จากการขายในภูมิภาคอาเซียน 1,370 ล้านบาท โดยในไตรมาส 4/62 มีรายได้จากการส่งออก 466 ล้านบาท คิดเป็น 18% ของยอดขายรวม ลดลง 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีปริมาณขายในภูมิภาคอาเซียนคิดเป็นสัดส่วน 17% ของปริมาณขายรวม ลดลง 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายนำพล กล่าวว่า ในส่วนของยอดขายตลาดต่างประเทศลดลงจากปีก่อน 23% ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากผลกระทบที่ยืดเยื้อของสงครามการค้า รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อยอดขายกระเบื้องเซรามิกในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศอื่น ๆ ที่นอกเหนือจาก กัมพูชา ลาว และเมียนมา

ด้านสถานการณ์ตลาดเซรามิคในประเทศ ไตรมาสที่ผ่านมา ไม่มีการเติบโตและติดลบเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยลบอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับความกังวลใจเรื่องภัยแล้ง อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของปี 62 จากการที่รัฐบาลเร่งดำเนินโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตลอดจนมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นตลาด และการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหลังเกิดภาวะน้ำท่วม ทำให้ในไตรมาสที่ผ่านมา บริษัทมียอดขายกระเบื้องเซรามิคในประเทศใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

จากมาตรการของภาครัฐที่มุ่งเน้นช่วยผู้ประกอบการในภาคอสังหาริมทรัพย์ และสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง อาทิ การลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองเหลือ 0.01% มาตรการสินเชื่อ 5 หมื่นล้านบาทของธนาคารอาคารสงเคราะห์สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท การคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษคงที่ 2.5% ใน 3 ปีแรก และการผ่อนปรนมาตรการ Loan to Value (LTV) ถือว่าเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้สินค้ากระเบื้องเซรามิค บริษัทจึงได้เร่งขยายสาขา "คลังเซรามิค" ร้านค้าปลีกจำหน่ายกระเบื้องเซรามิคสำหรับตลาดระดับกลางลงมา ให้ครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า และเพิ่มโอกาสในการขายสินค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ