EA คาดเริ่มรับรู้รายได้จาก PCM ช่วงไตรมาส 2/63 คาดทั้งปีมีรายได้ราว 800 ลบ. ,ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าปี 63 แตะ 5 พันคัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 27, 2020 13:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

EA คาดเริ่มรับรู้รายได้จาก PCM ช่วงไตรมาส 2/63 คาดทั้งปีมีรายได้ราว 800 ลบ. ,ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าปี 63 แตะ 5 พันคัน

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยว่า การผลิต"สารเปลี่ยนสถานะ" หรือ PCM (Phase Change Material) จากปาล์มน้ำมัน จะเริ่มรับรู้รายได้ในช่วงไตรมาส 2/63 และคาดว่าทั้งปี 63 จะสร้างรายได้ราว 800 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3% ของรายได้รวม จากกำลังการผลิตที่ 65 ตัน/วัน เบื่องต้นจะจำหน่ายไปยังประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก ก่อนจะขยายไปยังกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป และเกาหลีใต้ต่อไป เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างอาคาร และที่อยู่อาศัย เป็นส่วนสำคัญในการอนุรักษ์พลังงาน ด้วยการรักษาอุณหภูมิและลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความร้อนได้

สำหรับ PCM เป็นวัสดุที่มีความสามารถในการกักเก็บพลังงานสูง ช่วยรักษาอุณหภูมิให้คงที่ที่ค่าใดค่าหนึ่งตามแต่สูตรการผลิต ด้วยการดูดซับและปลดปล่อยพลังงานความร้อน และเปลี่ยนสถานะสารจากของเหลวเป็นของแข็ง และจากของแข็งเป็นของเหลวได้ จากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป จึงสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบใช้ประโยชน์ในการรักษาอุณหภูมิในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท เช่น อาคารและการก่อสร้าง, เสื้อผ้า, บรรจุภัณฑ์, การขนส่ง เป็นต้น

ทั้งนี้ PCM จากน้ำมันปาล์ม หรือจากแหล่งชีวภาพ (Bio Base) นับเป็นนวัตกรรมใหม่ถูกคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกโดย EA ซึ่งอยู่ในระหว่างการยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรในระดับโลก ปัจจุบันตลาด PCM โลก มีมูลค่าราว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มอีก 3 เท่าภายในอีก 5 ปี

โรงงานผลิต PCM ของ EA ตั้งอยู่ที่ จ. ระยอง เบื้องต้นใช้กำลังการผลิตอยู่ 65 ตัน/วัน และจะเพิ่มเป็น 130 ตัน/วัน ภายในปี 63-64 ขณะที่สายการผลิต PCM เฟสสองจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ และตั้งเป้าที่จะขยายกำลังการผลิตเป็น 1,000 ตัน/วันภายในอีก 5 ปี

นายอมร กล่าวว่า บริษัทได้นำแนวคิด"นวัตกรรมสังคมองค์กร" หรือ Corporate Social Innovation (CSI) มาใช้ เพื่อให้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ใช้ในบริษัท สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เติบโตเข้มแข็งเกิดประโยชน์ร่วมกันในระยะยาวเป็นรากฐานสู่การพัฒนาชุมชนทุกมิติสู่ความยั่งยืนในที่สุดนำร่องด้วยโครงการผลิตสาร PCM จากน้ำมันปาล์มเป็นครั้งแรก

พร้อมทั้งได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่น "ปาล์มยั่งยืน" โดยนำนวัตกรรม Blockchain มาพัฒนาเป็น Platform เพื่อใช้บันทึกข้อมูลและตรวจสอบการซื้อขายปาล์ม และที่สำคัญสามารถปันผลประโยชน์ส่วนเพิ่มกลับมายังผู้ขายวัตถุดิบในแต่ละขั้นตอนได้ หากวัตถุดิบนั้นมีคุณภาพดีจนสามารถนำไปผลิตสาร PCM ที่มีคุณภาพสูงได้ ก็จะเป็นแรงผลักดันให้เกษตรกรผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ตลอดจนปันผลประโยชน์ตอบแทนถือเป็นโครงการ CSI ต้นแบบของบริษัทด้วยงบลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท เป็นการเพิ่มมูลค่าของปาล์มและทำให้เกษตรกรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ด้วยระบบการบันทึกและตรวจสอบทุกขั้นตอนโดยใช้ Blockchain จึงเป็นการป้องกันการลักลอบนำปาล์มเถื่อนเข้ามาซื้อขายได้ อีกทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่น ๆ ได้ด้วย

นายอมร กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทนั้น ในช่วงไตรมาส 2/63 จะเริ่มทยอยส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 800 คัน จากยอดจองเดิมในช่วงปี 62 ที่มีประมาณ 3,500 คัน และคาดยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 63 จะทำได้ประมาณ 5,000 คันตามเป้าหมายที่วางไว้

ส่วนโครงการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเฟสแรก ขนาดกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) มูลค่าลงทุนประมาณ 5 พันล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการแม้กำหนดการแล้วเสร็จจะล่าช้าไปจากแผนงานเดิมบ้าง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในช่วงไตรมาส 3/63 และธุรกิจผลิตแบตเตอรี่เริ่มมีคู่แข่งเข้ามาเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่ากลยุทธ์ของบริษัทจะทำให้ธุรกิจส่วนนี้เติบโตไปได้ และแบตเตอรี่ของบริษัทก็จะยังนำไปใช้ในโรงไฟฟ้าได้อีกด้วย ทำให้มองว่าแนวโน้มการเติบโตจะดีต่อเนื่อง ส่วนเฟสที่ 2 ขนาด 49 กิกะวัตต์ชั่วโมงนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาการลงทุนซึ่งต้องเป็นไปตามนโยบายของบริษัทที่จะลงทุนด้วยความระมัดระวัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ