นายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บมจ.สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV) กล่าวว่า SAV ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) มีแผนจะเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 224 ล้านหุ้น แบ่งเป็น หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 64 ล้านหุ้น หรือไม่เกิน 10% ของทุนจดทะเบียนภายหลังการเสนอขายหุ้น และหุ้นสามัญเดิมรวมกับหุ้นส่วนเกิน (กรีนชู) ไม่เกิน 160 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 25% ของทุนจดทะเบียนภายหลังการเสนอขายหุ้น โดยมีมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนต.ค.62 บริษัทได้ทำการยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปแล้ว คาดว่าจะได้รับการอนุมัติได้ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งกระบวนการเสนอขายหุ้น IPO และการนำ SAV เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) น่าจะเกิดขึ้นได้ภายในไตรมาส 2/63
SAV ประกอบธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่น (Holding company) เน้นการลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจการจราจรทางอากาศ หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการจราจรทางอากาศ โดยปัจจุบันถือหุ้น 100% ใน บริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการบริหารจัดการจราจรทางอากาศ (Air Navigation Service Provider : ANSP) แต่เพียงรายเดียวสำหรับทุกสนามบินในกัมพูชาทั้ง 6 แห่ง
"หุ้นไอพีโอของ SAV คาดว่าจะเป็นที่สนใจของนักลงทุน สืบเนื่องจากปัจจัยด้านการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยว รวมถึงปริมาณการจราจรทางอากาศของทั้งกัมพูชาและภูมิภาคกว่า 10% ต่อปี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยธุรกิจให้บริการด้านการบินในกัมพูชาของ CATS นั้นถือว่าไม่มีคู่แข่งทางธุรกิจ อีกทั้งยังมีความมั่นคงทางรายได้สูงตามจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความสามารถในการทำกำไรในอัตราที่สูงมาโดยตลอด ทำให้บริษัทมีสถานะทางการเงินและกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง"นายประเสริฐ กล่าว
นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า การดำเนินธุรกิจนั้น SAV และ CATS มีคณะกรรมการ คณะผู้บริหาร และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในธุรกิจการบริหารจราจรทางอากาศมาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ SAV มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลสูงถึง 50% ของกำไรสุทธิ ซึ่งเมื่อบวกกับความสามารถในการทำกำไรและกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งแล้ว เชื่อว่า SAV จะเป็นหุ้นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนในระยะยาวอย่างแน่นอน
ด้านนายธีระชัย พงศ์พนางาม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ SAV กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการนำ SAV เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ไปชำระคืนเงินกู้ระยาวจากสถาบันทางการเงินทั้งหมด ที่ปัจจุบันมีอยู่ 1,200 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้บริษัทลดต้นทุนดอกเบี้ยไปประมาณ 70 ล้านบาท/ปี และจะเพิ่มอัตรากำไรสุทธิให้กับบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ จากปัจจุบันอยู่ที่ 25% อีกทั้งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการขยายการลงทุนต่อไปในอนาคต ซึ่งบริษัทก็มองโอกาสในการเข้าไปรับงานในรูปแบบ Outsource ในน่านฟ้าของประเทศอื่น ๆ เช่น ลาว เมียนมา เป็นต้น
นอกจากนี้ภายหลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว ประเมินว่ามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) จะมากกว่า SAMART ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ที่ปัจจุบันมีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 7,448.13 ล้านบาท
สำหรับ SAV มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 288 ล้านบาท มีหุ้นสามัญจำนวน 576 ล้านหุ้น โดยมูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาทต่อหุ้น โดยกลุ่มสามารถ ถือหุ้น 100% ในบริษัท สามารถ ยู-ทรานส์ จำกัด และยู-ทรานส์ ถือหุ้น SAV ในอัตรา 66.67% และยังมีบริษัท สามารถ อินเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นในอัตรา 33.33%
สำหรับ CATS ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชา ระยะเวลารวม 39 ปี (ปี 45-84) ในสนามบิน 6 แห่ง ได้แก่ สนามบินนานาชาติพนมเปญ สนามบินนานาชาติเสียมเรียบ สนามบินนานาชาติสีหนุ สนามบินพระตะบอง สนามบินเกาะกง และสนามบินสตึงเตรง
โดยมีรายได้หลักจากบริการควบคุมการจรารจรทางอากาศ แบ่งตามประเภทเที่ยวบินได้ 3 ประเภท ได้แก่ รายได้ค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงระหว่างประเทศ (Landing &Take-off : International) เป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 37-44%, รายได้ค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงภายในประเทศ (Landing & Take-off : Domestic) เป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 4-5% และรายได้ค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินผ่านเขตน่านฟ้ากัมพูชา (Overflight) เป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 50% ของรายได้รวม
SAV มีผลการดำเนินงานที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ทั้งในประเทศกัมพูชาและภูมิภาคอาเซียน โดยมีรายได้จากจำนวนเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ที่บินขึ้น-ลง ในกัมพูชา ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 20% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และจำนวนเที่ยวบินที่บินผ่านน่านฟ้ากัมพูชา (Overflight) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ โดยมีจำนวนเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 9.5% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 62 SAV มีรายได้รวม 1,556 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 389 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่มีรายได้รวม 1,440 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 208 ล้านบาท ส่วนในปี 61 SAV มีรายได้รวมจำนวน 1,947 ล้านบาท และ มีกำไรสุทธิ 253 ล้านบาท โดย SAV สามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นในระดับประมาณ 50% และอัตรากำไรสุทธิที่ 25% ในช่วง 9 เดือนแรกปี 62