ธนาคารทหารไทย (TMB) หรือทีเอ็มบี และธนาคารธนชาต (TBANK) ซึ่งอยู่ระหว่างการควบรวมกิจการระหว่างกัน เปิดตัวทีมผู้บริหารธนาคารใหม่ มุ่งเป็นที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญหนุนด้วยเทคโนโลยี วางกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล (Data-Driven Strategy) เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการทางการเงินที่ดี พร้อมมุ่งสู่ "ONE DREAM" ช่วยสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทั้งประเทศด้วย "ONE TEAM" ที่แข็งแกร่งเป็นหนึ่งเดียว เตรียมเปิดให้บริการ Co-Location/ Co-Brand Branch ที่เป็นสาขาร่วมระหว่างสองธนาคารในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB เปิดเผยว่า การดำเนินการตามแผนการจับมือทางธุรกิจรวมกิจการอย่างบูรณาการของทั้งสองธนาคารก้าวข้ามความท้าทายมาได้อย่างราบรื่นและมีความคืบหน้าไปมาก ซึ่งในปีนี้ ทั้งสองธนาคารจะเริ่มผนึกกำลังหลอมรวมทีมงานจากทั้งสองฝั่งให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้ ONE DREAM, ONE TEAM, ONE GOAL เพื่อลูกค้าของทั้งสองธนาคาร โดยเป้าหมายการรวมกิจการในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง แต่ผลลัพธ์ต้องเท่ากับสาม เพื่อที่จะช่วยให้ลูกค้าของทั้งสองธนาคารสามารถบรรลุเป้าหมายในชีวิตของตนเองได้
"ความมุ่งหวังของเราคือ ต้องการที่จะสร้างชีวิตทางการเงินที่ดี หรือ Financial Well-being ให้กับลูกค้าและคนไทยทั้งประเทศ เพราะเราเชื่อว่ามันคือรากฐานที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้ เมื่อเรามี ONE DREAM ที่เป็นจุดหมายเดียวกันแล้ว และเราก็มี ONE TEAM ที่จะร่วมกันทำให้ฝันของเราเป็นจริง ดังนั้น การรวมกันในครั้งนี้ สิ่งมีค่าที่สุดที่เราได้จึงไม่ใช่สินทรัพย์ใด ๆ แต่คือทีมงานชั้นยอดที่จะช่วยกันขับเคลื่อนองค์กรไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งในวันนี้เป็นโอกาสดีสำหรับการแนะนำทีมผู้บริหารของธนาคารใหม่ที่แข็งแกร่ง และพร้อมจะ มุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกันในการร่วมกันสร้างนิยามใหม่ของวงการธนาคาร เพื่อตอบโจทย์ในการสร้างชีวิต ทางการเงินที่ดีให้กับลูกค้า ซึ่งหวังว่าจะทำให้ธนาคารใหม่นี้ขึ้นแท่นเป็นธนาคารที่ลูกค้าชื่นชอบและบอกต่อ มากที่สุด (The Most Advocated Bank)"นายปิติ กล่าว
นายปิติ กล่าวว่า ทีมผู้บริหารของธนาคารใหม่นี้ เป็นทีมผู้บริหารจากทั้งไทยและต่างประเทศ จึงมีความเข้าใจลูกค้าคนไทย และมีความเชี่ยวชาญระดับโลก เมื่อผนึกกำลังกันแล้ว เชื่อมั่นว่าจะนำพาองค์กรไปยังเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างแน่นอน ซึ่งประกอบด้วย นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ผู้จัดการใหญ่, นายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้ารายย่อย, นายป้อมเพชร รสานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านสินเชื่อรถยนต์, นางมารี แรมลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารนวัตกรรมลูกค้ารายย่อย
นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ, นายฮัน คริเซล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านบริหารความเสี่ยง, นางประภาสิริ โฆษิตธนากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน, นายมาร์คัส โดเลงก้า ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านเทคโนโลยีและปฏิบัติการ, นางวิจิตรา ธรรมโพธิทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านทรัพยากรบุคคล, นางกาญจนา โรจวทัญญู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการตลาด ซึ่งมีผลตั้งแต่ต้นปี และ นางภิตติมาศ สงวนสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการตรวจสอบ จะมีผลในไตรมาส 2/63
นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า เป้าหมายหลักของธนาคารในตอนนี้คือ การรวมเป็นหนึ่งเดียวภายใน ก.ค.64 โดยคำนึงถึงประสบการณ์ของลูกค้าที่ได้รับบริการเป็นหลัก ว่าต้องไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จึงได้มีการวางแผนการดำเนินงานอย่างดี โดยธนาคารมีแผนที่จะเริ่มทยอยนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดเด่นของแต่ละธนาคารให้ลูกค้าของอีกธนาคารได้รู้จักและทดลองใช้ และกลางเดือน ก.พ.นี้ จะเริ่มเปิดให้บริการ Co-Location/ Co-Brand Branch ที่เป็นสาขาร่วมระหว่างสองธนาคาร ซึ่งปีนี้วางแผนจะเปิดทั้งหมด 90 สาขา ครอบคลุมจังหวัดหลักๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ลูกค้ามีความสะดวกมากขึ้นในการทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ หรือบริการของทั้งสองธนาคาร
ขณะที่ในเดือน มี.ค.63 ลูกค้าทั้งสองธนาคารจะได้รับความสะดวกจากการใช้บริการ ATM / ADM จำนวนกว่า 4,700 เครื่อง ฟรีค่าธรรมเนียมฝาก ถอน โอน ลูกค้าทีเอ็มบี ทัช สามารถทำรายการกดเงินไม่ใช้บัตรจากเครื่องของธนชาตได้ และบิลสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ บัตรเครดิตของธนชาต ก็สามารถชำระได้ที่เครื่องของทีเอ็มบี
ส่วนพนักงานซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนองค์กร ทุกคนจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ในเรื่องของสวัสดิการและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน (Employee Well-being) ซึ่งทีมบริหารได้คำนึงถึง 3 สิ่งด้วยกัน ได้แก่ Health ด้วยการมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล , Wealth ให้เงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ในอัตราที่สูงกว่าตลาด และ Skill หรือการพัฒนาทักษะของพนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากดิจิทัลเทคโนโลยี (Digital Disruption)
นางมารี แรมลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารนวัตกรรมลูกค้ารายย่อย กล่าวว่า การสร้างคุณภาพชีวิตทางการเงินให้แก่ลูกค้าจะยึดหลักสำคัญคือ ช่วยให้ลูกค้ามีการใช้จ่ายที่เหมาะสมกับตัวเองผ่านช่องทางที่สะดวกสบาย รู้จักการออมและการลงทุนที่เพียงพอ มอบความคุ้มครองที่อุ่นใจ และการกู้ยืมเท่าที่จำเป็น โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เกิดจากการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ให้รู้ถึงความต้องการที่แท้จริงโดยยึดหลักความปลอดภัยของข้อมูล ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้าและใช้เพื่อประโยชน์ของลูกค้าเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อสร้างโซลูชันที่ตรงใจสำหรับแต่ละคนโดยเฉพาะที่สำคัญต้องส่งมอบให้ลูกค้าได้ทันใจสอดรับกับความต้องการ
นายป้อมเพชร รสานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านสินเชื่อรถยนต์ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้ขับเคลื่อนวงการสินเชื่อรถยนต์ การให้ความสำคัญเรื่องการให้กู้ยืมอย่างมีคุณภาพ (Healthy Borrowing) ของสินเชื่อรถยนต์ จะช่วยขับเคลื่อนชีวิตทางการเงินของผู้คนให้ดีขึ้น และจะช่วยให้ลูกค้าสามารถบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้ นอกจากนี้จะใช้ Scoring Model ที่นำข้อมูลมาวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้และการปล่อยกู้เพื่ออนุมัติสินเชื่อที่เหมาะสม เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงให้กับลูกค้า ทั้งเป็นการควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ได้ในระดับที่เหมาะสมอีกด้วย นอกจากนี้ ลูกค้าที่มีวินัยทางการเงินที่ดีจะได้รับดอกเบี้ยในอัตราพิเศษ และเพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดจากการใช้บริการสินเชื่อรถยนต์ที่หลากหลายและครบทุกบริการ
พร้อมทั้งจะใช้กลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล (Data-Driven Strategy) เพื่อนำมาซึ่งบริการที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า และคู่ค้า เช่น Cross Area Booking ทำความเข้าใจการขายของคู่ค้าในช่องทางออนไลน์ ที่มีการให้บริการข้ามพื้นที่ เพื่อให้การขายมีประสิทธิภาพรวดเร็วมากขึ้น และ ALDX ระบบปฏิบัติการเพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้าตั้งแต่สมัครสินเชื่อ ติดตามผลอนุมัติ จนกระทั่งบริการและสิทธิประโยชน์
นายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้ารายย่อย กล่าวว่า การรวมสองธนาคารจะทำให้จำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านราย ธนาคารต้องดูแลรับผิดชอบให้ดีที่สุด โดยธนาคารเองมีช่องทางบริการมากมาย เช่น ช่องทางสาขา เครื่อง ATM / ADM โมบายแอพพลิเคชั่น Contact Center หรือ Relationship Manager ความท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์จากการทำธุรกรรมของธนาคารที่เชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ ในทุกช่องทาง และได้รับความสะดวกสบายจากการมีหลากหลายช่องทาง และเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา (anywhere, anytime) โดยสิ่งสำคัญที่ธนาคารต้องทำคือการนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้เป็นอาวุธสำคัญในการนำเสนอโซลูชันที่ ตอบโจทย์ในสิ่งที่ลูกค้าต้องการที่สุด ในเวลาที่เหมาะสม และเป็นการนำเสนอ ให้คำปรึกษาและข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้ลูกค้าได้ประโยชน์สูงสุด และมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นด้วย
นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตแบบกระจุกตัว และมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง ธุรกิจขนาดเล็ก (SME) ที่มีจำนวนมากถึง 3 ล้านบริษัท และ มีการจ้างงานสูงถึง 85% กลับให้สัดส่วนของรายได้ต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เท่าบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งมีเพียง 6,000 บริษัท ดังนั้น การจะช่วยเศรษฐกิจไทย ช่วยธุรกิจขนาดเล็กให้มีชีวิตทางการเงินที่ดี ธนาคารต้องเริ่มจากธุรกิจขนาดใหญ่โดยการปล่อยสินเชื่อที่ยั่งยืน นั่นคือ มอบแหล่งเงินทุนให้ธุรกิจอย่าง ถูกประเภท ถูกเวลา ไม่เกินตัว และตรงความต้องการจริง และธนาคารต้องนำเสนอธุรกรรมการเงินที่ตอบโจทย์ และพร้อมเชื่อมต่อ eco-system ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ไปจนถึงเล็กทั้งด้านข้อมูลและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้การทำธุรกรรมการเงินสะดวกและการบริหารงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นช่วยให้ลูกค้าธุรกิจมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นและเติบโตได้อย่างยั่งยืน